วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โทลูอีน : กับความเสี่ยงต่อการแท้งและความผิดปกติของทารกในครรภ์


โทลูอีน : กับความเสี่ยงต่อการแท้งและความผิดปกติของทารกในครรภ์ 

รองศาสตราจารย์ ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล*
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 


ความประมาทจนก่อให้เกิดการลุกไหม้ของสารโทลูอีนและเกิดการระเบิดของโรงงานฝ่ายผลิต
ยางรถยนต์ ภายในบริเวณ บริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัด
ระยอง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 เป็นข่าวใหญ่ต่อสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของ
ประชาชน รวมทั้งบรรยากาศของการท่องเที่ยวของผู้ที่ชื่นชอบผลไม้ของจังหวัดระยอง สําหรับคนไทย
ทั่วประเทศคงมีคําถามคล้าย ๆ กันว่า เมื่อไรปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจะได้รับการ
แก้ไขอย่างแท้จริง เพราะมีแต่ข่าวมลพิษ อุบัติภัย ความขัดแย้งกับชุมชน โดยเฉพาะความพยายามที่จะ
นําพื้นที่สีเขียวในอําเภอบ้านค่ายและอําเภอวังจันทร์ ตลอดจนพื้นที่ต้นน้ํามาใช้ในการประกอบ
อุตสาหกรรม  รวมทั้งคําถามถึงอนาคตในกรณีที่มีโรงงานหยุดผลิต ทิ้งร้าง รัฐมีหลักประกันใดที่เจ้าของ
กิจการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะอันตรายและสารพิษในโรงงานที่ทิ้งร้าง เพราะกังวลใจว่าใน
ที่สุดรัฐจะต้องเป็นผู้แบกภาระโดยนําภาษีของประชาชนไปจ่ายในส่วนที่โรงงานต้องรับผิดชอบถ้า
หน่วยงานอนุญาตให้สร้างโรงงานมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่รัดกุมเพียงพอ เพราะการเกิดอุบัติเหตุแต่
ละครั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยจากอุบัติเหตุของโรงงานจํานวนมาก
ส่งผลให้งบประมาณปกติของโรงพยาบาลที่ได้รับจัดสรรให้ต่อหัวประชากรถูกเบียดบังไปใช้เพื่อรองรับ
ความประมาทของโรงงานแทนที่จะใช้กับการส่งเสริมและรักษาสุขภาพของประชาชน
นักวิชาการกลุ่มที่ได้อ่านรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงงานนี้และบริษัท
ในเครือมีแผนที่การติดตั้งถังสารเคมีในการผลิตของโรงงาน ทุกคนภาวนาให้สามารถควบคุมการลุกไหม้
ของโรงงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะยังมีถังสารเคมีที่ติดตั้งในพื้นที่จํานวนมาก และโรงงานใกล้เคียง คือ
โรงงานบริษัทไบเออร์ไทย จํากัด ซึ่งมีถังสารเคมีอยู่จํานวนมากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความไม่
ชัดเจนว่าสารเคมีที่ระเหยปนเปื้อนในอากาศครั้งนี้เป็นสารโทลูอีนเพียงชนิดเดียวหรือมีถังสารเคมีชนิด
อื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น สารบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ความโชคดีของคนระยองครั้งนี้ คือ การที่มี
ฝนตกทําให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ง่ายกว่าปกติ อย่างไรก็ตามผู้รับผิดชอบได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่า
สารคมีที่ปนเปื้อนในอากาศและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย คือ โทลูอีน รวมทั้งให้ข้อมูลว่าสารชนิดนี้
ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่มิได้ให้ข้อมูลความเป็นพิษของโทลูอีนในแง่มุมอื่น
การติดตามข่าวในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ขอตั้งข้อสังเกตว่าการประกาศรับรองต่อสาธารณะ
ถึงความปลอดภัยของสารปนเปื้อนในอากาศยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน มีความเร่งรีบรับรองว่าปลอดภัย และ
ให้ประชาชนกลับบ้านได้ โดยขาดมาตรฐานและความน่าเชื่อถือทางวิชาการ หากเปรียบเทียบกับการ
ระเบิดของโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นมีการประกาศรายชื่อสารเคมีและปริมาณที่ตรวจพบ พร้อมทั้งให้
ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เข้าใจและนําไปใช้ในการปกป้องดูแลตนเองและบุคคลในครอบครัว    จึงปรารถนาที่จะเห็นการประกาศต่อสาธารณะของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ว่าได้ตรวจสอบ
การปนเปื้อนของสารเคมีชนิดใดบ้าง และตรวจวัดพบว่าค่าการปนเปื้อนเท่าใด พื้นที่ใดบ้างที่ปลอดภัย
เนื่องจากเป็นที่ทราบชัดว่าการตรวจหาสารเคมีปนเปื้อนในอากาศนั้นต้องตรวจรายชนิด เพราะมีวิธีการ
ตรวจไม่เหมือนกัน และค่ามาตรฐานความปลอดภัยของสารเคมีแต่ละชนิดเป็นค่าเฉพาะ เพื่อให้
ประชาชนมั่นใจได้ว่าองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้อง เคารพ ปกป้อง และได้ดําเนินมาตรการที่จําเป็นและ
เพียงพอที่จะทําให้สิทธิของชุมชนที่จะดํารงชีพได้อย่างปกติ รวมทั้งสิทธิด้านต่างๆ ที่มีการรับรองไว้ตาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญา
และตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักการและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องซึ่ง
รัฐบาลไทยได้ลงนามไว้กับนานาชาติมีการดําเนินการเพื่อให้สิทธิเหล่านี้เกิดผลที่เป็นจริง
การเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับมลพิษโดยตรงมีความจําเป็นอย่างยิ่ง เพื่อ
นําข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจปกป้องประชาชนซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องจากอุบัติภัย และมี
ความสําคัญยิ่งต่อนาทีชีวิตของเหยื่อ เพราะรายชื่อสารเคมีจําเป็นต่อการรักษาเพื่อลดความเป็นพิษของ
สารเคมีชนิดนั้น หากแพทย์ทราบชัดถึงชนิดสารเคมีที่เป็นต้นเหตุจะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงกับสาเหตุ
อย่างไรก็ตามข้อมูลของสารเคมีที่เปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีของโรงงานนี้มุ่งเน้นที่สารโทลูอีน
บทความนี้จึงนําเสนออันตรายของโทลูอีนในแง่มุมที่มีการกล่าวถึงไม่มากนัก แต่มีความสําคัญต่อชุมชน
คือ ผลกระทบต่อทารกและการแท้งของสตรีมีครรภ์
โทลูอีนเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่นิยมนํามาใช้เป็นตัวทําละลายทดแทนสารเบนซีน เนื่องจาก
โทลูอีนละลายในไขมันได้ดี  จึงสามารถผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบได้เร็วและ
จากรายงานทางวิชาการพบว่าโทลูอีนสามารถแพร่ผ่านรกได้ดี ทําให้ตรวจพบโทลูอีนในเนื้อเยื่อต่างๆ
ของทารกและในน้ําคร่ําที่อยู่ในมดลูกของแม่ที่สัมผัสโทลูอีน รวมทั้งพบในทารกแรกเกิดด้วย (1)
การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าโทลูอีนสามารถคงอยู่ในสัตว์วัยอ่อนที่อยู่ในท้องแม่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง
และหนูเม้าซ์ที่ได้รับโทลูอีนขณะตั้งท้องนั้นตรวจพบโทลูอีนสะสมอยู่ในตับจํานวนมาก (2, อ้างตาม 3)
รายงานการศึกษาให้สัตว์ทดลองที่ได้รับโทลูอีน ด้วยวิธีให้กิน หรือให้ได้รับทางการหายใจ มี
รายงานการศึกษาในสัตว์หลายชนิด เช่น หนู แฮมสเตอร์ และกระต่าย โดยให้ได้รับโทลูอีนในช่วงเวลาที่
แม่มีอายุครรภ์ต่างๆ กัน พบว่ามีผลแตกต่างกันตามปริมาณและระยะเวลาที่สัตว์ทดลองได้รับสารโทลูอีน
โดยอาการที่ตรวจพบมีความหลากหลาย ขึ้นกับชนิดสัตว์ ปริมาณโทลูอีนที่ได้รับและอายุครรภ์ เช่น ทํา
ให้เกิดการแท้ง หรือมีผลให้ลูกที่เกิดมีน้ําหนักน้อยกว่าปกติ อวัยวะที่สําคัญมีน้ําหนักน้อยกว่าปกติ เช่น
หัวใจ ตับ ไต และสมอง รวมทั้งมีผลเพิ่มอัตราการตายของทารกก่อนหรือหลังคลอด สัตว์บางชนิดมี
ความไวกว่าสัตว์อื่น เช่น หนูทดลองจะมีความไวกว่าแฮมสเตอร์ นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติของ
เนื้อเยื่อประสาท การได้ยิน และการเจริญของกระดูกโครงร่างช้ากว่าปกติด้วย (อ้างตาม 4)
          การศึกษาในคนที่ได้รับโทลูอีนจากการสูดดมต่อเนื่อง พบความผิดปกติของรูปร่าง เช่น กระดูก
ซี่โครงเพิ่มขึ้นซี่ที่ 14 ในกลุ่มที่ได้รับโทลูอีน 1,000    ppm นาน 6 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงที่มารดามีอายุครรภ์ 1-17 วัน นอกจากนี้พบความผิดปกติอื่น ๆ คือ ความผิดปกติของใบหน้าคล้ายกับทารกที่มารดา
ติดสุราในระยะตั้งครรภ์ คือ มีส่วนกลางของใบหน้าแบน กระบอกตาลึก กระดูกที่เชื่อมระหว่างรูจมูก
แบน (รูปที่ 1 จาก 5 อ้างตาม 2)  การให้กําเนิดทารกที่มีรูปร่างผิดปกติในคนนั้น มีรายงานว่าเกิดจาก
ทารกได้รับโทลูอีนผ่านมดลูกในขณะที่อยู่ในครรภ์ และแม่ไม่สามารถกําจัดสารตกค้างจากโทลูอีนซึ่งไป
ทําลายไตได้ (รูปที่ 2 จาก 2)

 (ภาพนี้นํามาจากวารสาร Teratology 55:145–151 (1997)  ซึ่งเจ้าของบทความได้ขออนุญาตเผยแพร่ภาพ
จาก  Arnold และคณะ (1994)  จึงถูกนํามาอ้างอิงในบทความนี้ โดยมิได้ขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน จึงขอให้
ระมัดระวังในการนําไปเผยแพร่ต่อ) 
  รายงานการศึกษาสาเหตุการแท้งของสตรีมีครรภ์ โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์สตรี 50 
คน (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 105 ครั้ง) ซึ่งทํางานในโรงงานผลิตลําโพงและได้รับโทลูอีนปริมาณสูง 88 
ppm (ช่วง 50-150 ppm) เปรียบเทียบกับสตรีที่ทํางานในแผนกอื่นของโรงงานเดียวกันซึ่งได้รับโทลูอีน 
1 ppm หมายถึง มีสารโทลูอีน 1 ส่วน ในสารละลาย 1 ล้านส่วน
น้อยมากหรือไม่ได้รับเลย (0-25 ppm) จํานวน 31 คน (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 68 ครั้ง) โดยเปรียบเทียบ 
กับสตรีที่อยู่ในชุมชนทั่วไปที่เข้ารับการรักษาในคลินิกแม่และเด็กหลังการคลอด จํานวน 190 คน เป็น
กลุ่มควบคุม (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 444 ครั้ง) พบว่าสตรีกลุ่มที่ทํางานในโรงงานและได้รับโทลูอีน 
ปริมาณสูง มีอัตราการแท้งสูงถึง 12.4 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง ซึ่งมีอัตราการแท้งสูงกว่าสตรี
กลุ่มที่ทํางานในโรงงานเดียวกันซึ่งได้รับโทลูอีนน้อยหรือไม่ได้รับเลย ที่พบว่ามีอัตราการแท้งเพียง 2.9 
ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง ซึ่งความแตกต่างนี้มีนัยสําคัญทางสถิติ  ส่วนสตรีกลุ่มในชุมชนทั่วไปนั้น
พบอัตราการแท้ง 4.5 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง นอกจากนี้ในสตรีกลุ่มที่ได้รับโทลูอีนสูงนั้นเมื่อ
เปรียบเทียบอัตราการแท้งระหว่างก่อน-หลังเข้าทํางานในโรงงานความแตกต่างที่มีนัยสําคัญทางสถิติ 
โดยก่อนทํางานมีอัตราการแท้ง 2.9 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง และมีอัตราการแท้งเพิ่มขึ้นหลังจาก
เข้าทํางานในโรงงานเป็น 12.6 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง สตรีเกือบทั้งหมดไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่ม
แอลกอฮอล์    ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการได้รับสารโทลูอีนของสตรีมีครรภ์ความเสี่ยงต่อการแท้ง
และสูญเสียทารกในครรภ์ (6) 
ถึงเวลาที่สิทธิของประชาชนในจังหวัดระยองจะได้รับการปกป้องอย่างแท้จริงหรือยัง เริ่มต้น
ที่สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร และการชดเชย เยียวยา ที่เป็นธรรม จึงควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี
มาให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในการเข้าถึงสิทธิที่ถูกละเมิดมาอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบระบบ
การปกป้องประชาชนจากภัยพิบัติของโรงงานอุตสาหกรรมที่รัฐเป็นผู้อนุมัติ/อนุญาตและควบคุมการ
ดําเนินการ (7) 





รูปที่ 2  เมแทบอลิซีมของโทลูอีน อาศัยการทํางานของเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส
(ADH) และอัลดีไฮด์ ดีโฮโดรจีเนส 1 (ALDH1) และ 2 (ALDH2) เพื่อสลายโทลูอีน โดยเปลี่ยนโครงสร้าง
โมเลกุลและกําจัดออกทางปัสสาวะ


เอกสารอ้างอิง
(1) Goodwin, T.M.  Toluene abuse and renal tubular acidosis. Obstet. Gynecol. 1988,
    71:715–718.
(2) Wilkins-Haug, L.  Teratogen Update: Toluene, Teratology. 1997, 55:145–151.
(3) Ghantous, H. and Danielsson, B.R.G.  Placental transfer and distribution of toluene,
     xylene and benzene, and their metabolites during getation in mice. Biol. Res.
    Pregnancy. 1986, 7:98–105.
(4). EPA/635/R-05/004, Toxicological review of  toluene (CAS No. 108-88-3), In Support
       of Summary Information on the Integrated Risk Information System (IRIS),
       September 2005. U.S. Environmental Protection AgencyWashington D.C.
(5)  Arnold, G., R.S. Kirby, S. Langendoerfer, and Wilkins-Haug , L. Toluene embryopathy:
     Clinical delineation and developmental followup. Pediatrics. 1994, 93:216–220.
(6)  Ng, T.P., Foo, S.C, and Yoong,  T.  Risk of spontaneous abortion in workers exposed
      to toluene. Brit. J. Ind. Med.1992, 49:804-808.
(7)  (ร่าง) รายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อกรณีข้อร้องเรียนของ
      เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 2555 (คณะกรรมการกําลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างรายงานฉบับ
       สมบูรณ์)  



วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อดีตคนงานแฉภัยสารพิษทำหัวหน้าฆ่าตัว เครือข่ายผู้ป่วยฯจี้รัฐเร่งแก้ความปลอดภัย


อดีตคนงานแฉภัยสารพิษทำหัวหน้าฆ่าตัว เครือข่ายผู้ป่วยฯจี้รัฐเร่งแก้ความปลอดภัย ศรีสุวรรณยื่นศาลถอน'อีไอเอ-ใบอนุญาต'

โดย ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ
  อดีตคนงานโรงงานบีเอสที เผยเหตุสลดชีวิตคนงานที่ถูกสารเคมีจนทนทรมานไม่ไหว ผูกคอตายหนีความทรมาน หลังรับสารพิษมากว่า 2 ปี จนร่างกายเป็นแผลพุพองไปทั่ว ด้านเครือข่ายผู้ป่วยฯ จี้รัฐบาล-ผู้ประกอบการหามาตรการเร่งด่วน แก้ปัญหาความปลอดภัยของแรงงาน ทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว ขณะที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เตรียมร้องศาลปกครองสูงสุดสั่งสผ. เพิกถอนใบอนุญาตและอีไอเอบีเอสทีและอดิตยาฯ ที่สร้างผลกระทบให้กับคนงานและสิ่งแวดล้อม
 

จากเหตุการณ์เหตุระเบิดขึ้นในโรงงานบีเอสที ในเครือบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตามมาด้วยเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลของโรงงานของบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 12 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นที่ยังถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง และหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นตามมาโดยเฉพาะในภาคแรงงาน กับประเด็นเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงานซึ่งมีการออกมาแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ รัฐบาล รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจในการดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานมากกว่านี้ หลังจากที่พบว่าในระยะที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุภายในสถานปฏิบัติงานที่ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวพนักงานและชุมชนที่อยู่รอบข้างมากขึ้น
อดีตคนงานบีเอสทีแฉภัยในโรงงานบีเอสที

นายสมหมาย ประไว นักสื่อสารแรงงาน จากเครือข่ายสมาฉันท์แรงงานไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า หลังเกิดเหตุระเบิดและไฟลุกไหม้ที่โรงงานดังกล่าวแล้ว ได้พยายามสืบค้นข้อมูลจากเพื่อนพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งได้รับทราบจากอดีตพนักงานบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงงานที่เกิดเหตุ เล่าว่า ในช่วงที่เขาทำงานในโรงงานแห่งนี้ ช่วงการทำงานจะแบ่งออกเป็น 3 plan แต่ละ plan มีพนักงานประมาณ 100  คน การทำงานมีเพียง 2 กะ กะละ 12 ชั่วโมง ทำ 2 วัน หยุด 2 วัน ทำ 3 วันหยุด 3 วัน รับเงินเป็นเงินเดือน ตกเดือนละประมาณ 8,000 บาท
ตัวของผู้ให้ข้อมูลระบุว่า เคยทำงานในตำแหน่ง Fild Operator คือ พนักงานระดับปฏิบัติการ ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างของสารเคมีที่ผสมแล้ว เพื่อนำไปส่งให้กับพนักงานประจำห้องแล็บ ตรวจสอบกระบวนการผสมหรือการทำปฏิกิริยาของสารเคมีว่า ได้ผลกี่เปอร์เซ็นแล้ว รวมทั้งทำหน้าที่ปิด-เปิดวาล์วท่อสารเคมี ที่มีท่อจำนวนมาก อาจจะมีสูงถึงหลักพันวาล์ว ซึ่งในการทำงานพนักงานจะต้องทำตามขั้นตอน และคู่มือการทำงานอย่างเคร่งครัด เพราะหากเกิดความผิดพลาด จะทำให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากในกระบวนการผลิตหากถังที่บรรจุสารเคมีเต็มแล้ว ยังมีการเปิดวาล์วเพิ่มจำนวนสารเคมีเข้าไปอีก แรงดันจะดันจนถังบรรจุรับไม่ไหวและจะเกิดระเบิดขึ้นทันที
นายสมหมายกล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับอดีตพนักงานคนดังกล่าว ยังได้ข้อมูลอีกว่า สำหรับสารเคมีที่ใช้ในโรงงานแห่งนี้ บางชนิดต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ไม่เกินลบ 14 องศาเซลเซียส หากเกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจนสูงขึ้นกว่านั้น อาจติดไฟและระเบิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายเป็นอย่างมาก ส่วนสาเหตุที่เขาต้องลาออกจากโรงงาน เพราะรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี และมีอาการแพ้สารเคมี  โดยเฉพาะจุดที่ทำอยู่นั้นมีสารสไตรีนบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารที่นำมาเป็นส่วนผสมหนึ่งในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่จะรับรู้ถึงอันตรายของสารตัวนี้ เพราะแค่ไอของสารมาสัมผัสถูกผิวหนังอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้ และในช่วงแรกที่เริ่มเข้าไปทำงาน เขาระบุว่า แค่ได้กลิ่นและสูดดมเข้าไปก็เกิดอาการแสบจมูก แสบคอ ตลอดเวลาที่ทำอยู่ 2 ปี รับรู้ได้ว่าร่างกายมีความอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้บริษัทจะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ ขณะปฏิบัติงานก็ตาม แต่ก็มีบางจังหวะที่เผลอเรอบ้าง
รันทดคนงานผูกคอตายหนีทรมานจากสารเคมี

“เรื่องของผลกระทบที่พนักงานในโรงงานได้รับจากสารเคมีต่างๆ ในโรงงานแห่งนี้ มีให้พบเห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง มีอยู่กรณีหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับพนักงานของโรงงานแห่งนี้เป็นอย่างมาก คือ กรณีของหัวหน้างานคนหนึ่งอายุประมาณ 40 ปี ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ทำงานกับบริษัทมา 8 ปี เป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับงานมาก เวลางานติดขัดหรือมีปัญหาหัวหน้างานคนนี้จะรีบไปแก้ไขทันที จนบางครั้งไม่ได้ใส่ใจที่จะสวมอุปกรณ์ป้องกันภัยจากสารเคมีต่างๆ เขาทำเป็นประจำ จนในที่สุดการที่รับสารเคมีสะสมเรื่อยๆ ทำให้เขาเกิดอาการไม่สบายจนต้องไปหาหมอ ซึ่งหมอได้ให้ยาเพื่อขับสารพิษที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกาย ผลก็คือร่างกายรวมทั้งผิวหนังของเขามีผื่นตุ่มคัน แต่เขาก็ยังคงทานยาและมาทำงานตามปกติ โดยบริษัทเองก็ให้การช่วยเหลือดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่สุดท้ายเขาทนอยู่ได้ประมาณ 2 ปี จึงตัดสินใจลาโลกด้วยการผูกคอตายในห้องพักของตัวเองเพื่อหนีโรคร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานส่วนใหญ่สะเทือนใจอย่างมาก” นายสมหมายกล่าว

เครือข่ายผู้ป่วยฯชี้ชีวิตคนงานเสี่ยงภัยทุกวินาที


ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการกับเหตุการณ์สารเคมีระเบิดดังกล่าว วันเดียวกัน นางสมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องผลักดันนโยบายสุขภาพความปลอดภัยให้เป็นจริง โดยระบุถึงกรณีเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบพุด จ.ระยอง ว่า เป็นความบกพร่องประมาทเลินเล่อ ของสถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเป็นเหตุให้สะเทือนขวัญ เหตุการณ์ระเบิดโรงงานครั้งนี้ นับเป็นข่าวสร้างความเสียหายอีกครั้งหนึ่ง ต่อภาพลักษณ์ของสังคมและประเทศชาติ ที่อาจทำให้ถูกมองว่า มีแต่นโยบายที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาอุตสาหกรรม จนละเลยขาดระบบการป้องกันตรวจสอบ
นางสมบุญกล่าวว่า จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 ผ่านมาจะครบรอบ 19 ปี สถานการณ์เรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ชีวิตคนงานก็ยังต้องตกอยู่ในสภาวะวิกฤต เสี่ยงภัยอยู่ทุกวินาที ทั้งภัยเครื่องจักรอันตราย และจากสารเคมีที่ร้ายแรง รวมไปถึงปัญหาในการเข้าไม่ถึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ จึงมีความเห็นและขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ต่อกรณีนี้ดังนี้
1.ให้คนงานที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนี้ได้เข้าถึงสิทธิการดูรักษาอย่างดีและได้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน 2.ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพื่อแสดงความรับผิดชอบนอกเหนือกฎหมาย 3.ให้ตรวจสอบสถานประกอบการณ์ที่มีอันตรายโดยเร่งด่วนและยุติการผลิตจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ปลอดภัย
เสนอรัฐชัดเจนนโยบายความปลอดภัยระยะยาว

นอกจากประเด็นการเยียวยาวในระยะสั้นแบบเร่งด่วนแล้ว ในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวยังได้เสนอต่อภาครัฐในการดำเนินการระยะยาว คือ 1.รัฐต้องมีนโยบายแผนงานแห่งชาติพัฒนาระบบงานอาชีวเวชศาสตร์เพื่อให้มีการผลิตบุคลกรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ และปริมาณเพียงพอในระยะยาว การจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน ที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐาน การจัดบริการที่สามารถทำให้ลูกจ้าง นายจ้างเข้าถึงได้ง่าย
2.ต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาส่งเสริมป้องกันการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เพื่อลดการสูญเสียในอนาคตของลูกจ้าง นายจ้างลดรายจ่ายการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน 3.ต้องให้มีนโยบายส่งเสริมเรื่องตรวจสุขภาพลูกจ้าง ที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน ตามกฎกระทรวงอย่างต่อเนื่อง โดยลูกจ้างมีสิทธิเลือกแพทย์สถานพยาบาล เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจของลูกจ้าง 4.รัฐบาลลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้ ฉบับที่ 155 ว่าด้วย ความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) ฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) และฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)


ชี้ต้องให้ทุกหน่วยมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง


5.ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยงานจากการฯ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการศึกษาที่ผลิต/อบรมบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงาน ด้านอาชีวอนามัยฯ  เพื่อนำไปสู่ “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ในการทำงาน
6.การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง
7.เร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นองค์กรมหาชน มีส่วนร่วม และ บูรณาการ มาทำงานด้านการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับแรงงานไทย โดยเน้นมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และ โครงสร้างกรรมการต้องมาจากการสรรหา
8.การงดใช้แร่ใยหิน ชดเชยผู้ป่วย และ 9.จัดตั้งกองทุนผู้ประสบภัยจากการทำงานและมลพิษ ทั้งนี้ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ในสมัชชาคนจน เป็นองค์กรที่รวบรวมสมาชิกที่มีทั้งคนงานและชุมชนที่ประสบปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานและมลพิษสิ่งแวดล้อม รวมกลุ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ดำเนินการร่วมเรียกร้องสิทธิ และ ผลักดันนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กับรัฐบาลในนามสมัชชาคนจนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้นำด้านสุขภาพในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งยังเข้าร่วมเครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยด้วย

ฟ้องศาลปกครองถอนอีไอเอ-ใบอนุญาตบีเอสที-อดิตยาฯ

นอกจากประเด็นเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน ที่ภาคแรงงานออกมาเรียกร้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ และภาครัฐเข้มงวด และให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้นแล้ว ในประเด็นของการดูแลเรื่องมาตรการความปลอดภัยในด้านสิ่งแวดล้อม และชุมชน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่มีการเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งลงวันที่ 2 ธ.ค.2552 ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านมาบตาพุดรวม 43 รายได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ รวม 8 หน่วยงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานต่างๆ จำนวน 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง และให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสองนั้น
แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 5-6 พ.ค.2555 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในโรงงานบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด และโรงงานของบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า จำกัด ตามลำดับ ทำให้มีผู้ล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากทั้งสองโรงงานดังกล่าว เป็นโรงงานใน 76 โรงงานที่สมาคมฯและชาวบ้านได้ฟ้องร้องและปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้นในวันที่ 10 พ.ค. เวลา 10.00 น. สมาคมฯจะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาเพื่อมีคำสั่งใหม่ สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8) เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการของทั้ง 2 โรงงานต่อไป ขณะเดียวกันจะขอให้ศาลสั่งให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) ของทั้งสองโรงงานต่อไปด้วย
วันที่เขียนบทความ 09/05/2555
วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

ขยะชายหาด สัตหีบ

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชายหาดดงตาลสัตหีบ ชายหาดกองเรือยุทธการ ชายหาดเทียนทะเล แหล่งท่องเที่ยวสำคัญเมืองสัตหีบประสบปัญหาขยะเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะถุงพลาสติกและกล่องโฟมนับล้านชิ้นลอยเกยหาด ทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม หน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมรับมือ 
       
       วันนี้ ( 4 ก.ย.54 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชายหาดดงตาล ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ขณะนี้ได้ประสบวิกฤตปัญหาขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล โดยเฉพาะถุงพลาสติกจำนวนนับล้านชิ้นได้ลอยเข้ามาเกยชายหาด ทำให้ทำลายทัศนียภาพที่สวยงามของแหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดดงตาล บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบ หาดกองเรือยุทธการ และหาดเทียนทะเลซึ่งอยู่ในความดูแลของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง กองทัพเรือ ซึ่งล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสัตหีบ




       
       นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริเวณชายหาดเทียนทะเล ยาวจรดไปจนถึงตลาดสัตหีบ ซึ่งมีระยะทางรวมกว่า 5 กิโลเมตร ในแต่ละวันจะมีขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล เช่น ถุงพลาสติก และกล่องโฟม ลอยเข้ามาเกยติดบริเวณชายหาดนับล้านชิ้น ทำให้ทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการจัดเก็บ และทำความสะอาดอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้ขยะหมดไปกลับมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ๆ จนยากที่จะขจัดให้หมดไปได้ สาเหตุเกิดจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมทะเล และกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงมักง่ายทิ้งขยะลงสู่ทะเล
       
       ในอนาคตในไม่ช้า จะมีแผนบูรณการร่วมกับหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง กองเรือยุทธการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เข้ามาร่วมรณรงค์แก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยให้หมดไป หากมีการดำเนินการแล้วจำนวนขยะยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง คาดว่าในอนาคต จะทำการหารือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำการวางทุ่น ป้องกันไม่ให้ขยะมูลฝอยลอยเข้าชายฝั่ง เพื่อคืนความเป็นธรรมชาติที่สวยงาม ดั่งคำขวัญเมืองสัตหีบที่ว่า อนุรักษ์เต่าทะเล เสน่ห์ธรรมชาติ อภิวาทหลวงปู่อี๋ เขาชีจรรย์พระใหญ่ ไหว้กรมหลวงชุมพร ถิ่นขจรราชนาวี
วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศาลปกครอง เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อม 4 ส.ค. 54

ศาลปกครอง เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น 9 ศาลทั่วประเทศ เพื่อรับฟ้อง และพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม

ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยถึงการเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ว่า การเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองครั้งนี้ เป็นการเปิดทำการแผนกคดีฯ พร้อมกันทุกศาลทั่วประเทศ 9 แห่ง ได้แก่ ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองระยอง ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองอุดรธานี และศาลปกครองอุบลราชธานีรับฟ้องคดีปกครองพร้อมกันในวันนี้

ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติหลักการสำคัญทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในทางสิ่งแวดล้อมและอำนาจหน้าที่ของรัฐไว้ในมาตรา 66 มาตรา 64 และมาตรา 85 โดยกำหนดให้ชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

ตลอดจนการกำหนดรับรองสิทธิของบุคคลหรือชุมชนในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐไว้ด้วยว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ได้บัญญัติรับรองสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 67

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 3/2552 เรื่องการรับรองสิทธิและเสรีภาพ และอำนาจศาลในคดีพิพาทตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน และวินิจฉัยเรื่องสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ว่า ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด

หากปรากฏว่าการดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิและเสรีภาพของชุมชนและบุคคล และอำนาจหน้าที่ของรัฐ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง โดยผ่านกลไกสำคัญของรัฐ คือ หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ และมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ด้วย และผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งนอกจากจะมีผลผูกพันคู่กรณีแล้ว ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ และส่งผลกระทบที่เชื่อมโยงไปถึงการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม รวมทั้งอาจเกี่ยวข้องโดยทางอ้อมต่อการวางนโยบายทางสิ่งแวดล้อมในบางเรื่องของรัฐอีกด้วย

ประธานศาลปกครอง ระบุว่า รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2554 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2554 กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง มีอำนาจออกประกาศจัดตั้งแผนกคดีขึ้นในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น และโดยที่ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และสาธารณชนในวงกว้าง การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลปกครอง จึงเป็นไปเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นไปโดยรวดเร็ว ทันต่อการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และทันต่อการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายไม่เฉพาะแต่คู่กรณีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันด้วย อันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และยังประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ

จากเหตุผลข้างต้น จึงเห็นสมควรจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้นทุกศาล และในส่วนของศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นศาลที่วางหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นศาลที่ต้องพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมกรณีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นควรจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การฟ้องคดีต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองเร็วและดีอย่างไร ดร.หัสวุฒิ กล่าวว่า การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมทำให้ขั้นตอนการพิจารณาคดี ตั้งแต่การฟ้องคดี จนถึงการมีคำพิพากษาของศาลเป็นขั้นตอนที่แยกการพิจารณาออกมาโดยเฉพาะจากคดีปกครองประเภทอื่น จึงทำให้คดีเสร็จรวดเร็วและเหมาะสมกับคดีสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อส่วนรวม ซึ่งรอช้าไม่ได้

ขณะที่ตุลาการศาลปกครองที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงมั่นใจได้ในความถูกต้องและเป็นธรรมของคำพิพากษา

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แผนกคดีสิ่งแวดล้อม - ศาลปกครองไทย ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน


นับเป็นข่าวดีสุดๆ สำหรับวงการยุติธรรมไทยและวงการสิ่งแวดล้อม ที่ศาลแพ่งและศาลปกครองได้ตัดสินใจเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยศาลแพ่งได้ถือฤกษ์ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 เป็นวันดำเนินการวันแรก หลังจากที่ปล่อยให้ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกานำร่องเปิดแผนกนี้ตั้งแต่ปี 2548

เช่นเดียวกับศาลปกครอง ซึ่งว่ากันว่ามีคดีสิ่งแวดล้อมอยู่ล้นมือไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นคดีมาบตาพุด รวมไปถึงข้อพิพาทต่างๆ อีกมาก ระหว่างรัฐกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่กำลังจะไปสร้างในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกขยะ โรงไฟฟ้า ฯลฯ ก็ขอตามติดศาลยุติธรรม ด้วยการเปิดแผนกนี้แบบทุกระดับ ตั้งแต่ศาลปกครองชั้นต้นทั้งส่วนกลาง กับส่วนภูมิภาคอีก 9 จังหวัด ศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่ในวันที่ 2 สิงหาคม 2554 เป็นต้นมา

แน่นอน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการบ่งชี้ที่สำคัญว่า คดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และควรถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นพิเศษ เพราะต้องยอมรับว่านอกจากเรื่องนี้จะอยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างสูงแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าคดีที่เกิดขึ้น เมื่อขึ้นสู่การพิจารณาของศาลก็จะกินเวลาที่ยาวนานสุดๆ ตัวอย่างเช่น คดีมาบตาพุดซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมานานกว่า 2 ทศวรรษ แถมยังมีทีท่าจะลุกลามขึ้นอีก เพราะถึงตอนนี้กลุ่มทุนต่างๆ ก็ยังให้ความสนใจจะมาลงเงินในจุดศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไทยแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่คดีคลาสสิกอย่างกรณีของชาวหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งต้องเผชิญกับพิษตะกั่วที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยลงสู่แม่น้ำมานานกว่า 13 ปี แต่เชื่อหรือไม่ว่าคดีนี้เพิ่งเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา แล้วไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใดกันแน่

เพราะฉะนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้นับว่าเป็นเรื่องต้องจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะนี่อาจจะเป็นการพลิกโฉมของวงการยุติธรรมใหม่หน้าหนึ่ง โดยเฉพาะคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งว่ากันยุ่งยากซับซ้อน และสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

[1]

แต่ก่อนที่จะไปกล่าวถึงระบบการทำงานของสิ่งแวดล้อม เรื่องแรกที่คงต้องอธิบายให้ชัดเจนกันก่อนก็คือ ความแตกต่างหรือความพิเศษของคดีสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับคดีทั่วๆ ไปนั้นเป็นเช่นใด

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญคดีประเภทนี้ อธิบายว่า หากมองเผินๆ หลายคนคงไม่เห็นความแตกต่างอะไรมากนัก เพราะเอาเข้าจริง คดีสิ่งแวดล้อมก็คือคดีละเมิดประเภทหนึ่งนั่นเอง เช่น หากคุณเดินถนนอยู่ดีๆ แล้วมีรถมาชน คุณก็คือผู้เสียหาย ซึ่งก็เหมือนกับคุณอยู่บ้านเฉยๆ จู่ๆ วันหนึ่งก็มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้ง แล้วปล่อยควันพิษ น้ำเสียออกมา คุณก็ถือเป็นผู้เสียหายเช่นกัน แต่หากมองให้ลึกๆ ให้เห็นว่า นี่คือคดีที่มีความซับซ้อน เป็นคดีปัญหาของผู้บริโภคประเภทหนึ่ง ก็จะพบว่าเรื่องนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อใครคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังส่งผลคนจำนวนมากอีกด้วย เพราะฉะนั้นการมีเครื่องมืออะไรสักอย่างเข้ามาจัดการ เพื่อทำให้กระบวนการเรียกการเรียกร้องสิทธิทำได้ง่ายขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น

“คดีพวกนี้มันมีความซับซ้อน มีเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องมลพิษถือว่าชัดมาก เพราะมันจะมีตั้งแต่เรื่องสารอะไรเกิดขึ้น พิสูจน์อย่างไร น้ำใต้ดินหรือดินเสียมาจากไหน ซึ่งเราเรียกว่าความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์ได้ยาก หรือเรื่องจีเอ็มผิดไม่ผิด

“และถ้าย้อนไปดูสมัยที่ยังไม่มีศาลปกครอง ตอนแรกก็มักจะเป็นคดีระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่พอมันใหญ่ขึ้นหรือมีผลกระทบมากขึ้น ก็จะพันไปกับหน่วยงานของรัฐทันที ยกตัวอย่างเช่นเราเลี้ยงหมูตัวหนึ่งที่บ้านไม่เป็นปัญหา แต่พอเลี้ยงเป็นฟาร์มก็ต้องมีหน่วยงานสาธารณสุขมาให้อนุญาต หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร กฎหมายสาธารณสุขก็เข้ามาเหมือนกัน เพราะนั่นแสดงว่าคุณเริ่มมีผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งถ้าระบบย่อยก็ผ่านเทศบาล อบต. แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ก็เป็นระดับกรม กระทรวง บางทีก็ข้ามกระทรวงเลยก็มี

“เพราะฉะนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ หากรัฐอนุมัติไม่ถูกหรือคุมไม่ดี ก็จะกลายเป็นว่ารัฐเข้าไปเสริมเอกชนกลุ่มหนึ่งให้ไปทำร้ายเอกชนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไม่ตั้งใจ ดังนั้นอย่างคดีแพ่ง ถ้าไปคิดแบบเดิมมันทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอมีระบบปกครองเข้ามาก็ช่วยได้ เช่น รัฐทำอะไรไม่ดี ศาลปกครองก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ แต่ถามว่าเขาทำได้เต็มที่หรือยัง เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ ความท้าทายก็คือเวลาพิจารณามันก็ต้องมีการชั่งน้ำหนักว่าระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ป่วยซึ่งรับมลพิษกับผู้ประกอบการที่รัฐอนุญาต แถมยังมีเรื่องเศรษฐกิจของประเทศเข้ามาเกี่ยว ศาลปกครองจะทำอย่างไรให้สมดุล ซึ่งถ้าไปคุมมากศาลก็จะถูกด่าว่า คุณใช้อำนาจแทนรัฐหรือเปล่า ขณะที่อีกฝ่ายก็จะบอกว่าคุณมีอำนาจมากขนาดนี้ ทำไมไม่ใช้ให้เพียงพอ เพราะฉะนั้นมันจึงมีความซับซ้อนสูงมาก”

ที่สำคัญ ต้องยอมรับด้วยว่า คดีพวกนี้มักจะเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล ผู้มีอำนาจทางบ้านเมือง รวมไปถึงกลุ่มทุนต่างๆ ก็ยิ่งทำให้คดีสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

ไม่แค่นั้น บุคลากรในแวดวงยุติธรรมที่เป็นอยู่ก็ถือเป็นปัญหา เพราะคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ก็มีอยู่จำนวนน้อยนิด โดย สุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งต่อสู้เรื่องของสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน สะท้อนปัญหาให้เห็นว่า สิ่งที่ลำบากที่สุดของเรื่องนี้ก็คือข้อมูล โดยชาวบ้านจะต้องเป็นคนเตรียมข้อมูลเอง และข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่อธิบายปากเปล่าไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่ชำนาญงานเข้ามาช่วยทำ ซึ่งสุดท้ายก็จะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอีกมากมาย และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ โอกาสที่ชุมชนได้รับข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าคดีสิ่งแวดล้อมจะมีแต่ปัญหาสักทีเดียว เพราะในมุมของทนายความอย่าง สุรสีห์ พลไชยวงศ์ กรรมการสภาทนายความ จังหวัดกาญจนบุรี ฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งทำคดีชาวหมู่บ้านคลิตี้ ก็ยังบอกข้อดีของคดีเหล่านี้ โดยเฉพาะคดีแพ่งนั้นอายุความไม่ได้แค่ 1 ปีเหมือนคดีปกติ และมีถึง 10 ปีเลยทีเดียว ที่สำคัญในเรื่องภาวะการพิสูจน์ โดยทั่วไปฝ่ายโจทย์จะเป็นผู้พิสูจน์ แต่คดีสิ่งแวดล้อมนั้นกลับกัน เพราะถือว่าใครเป็นผู้ครอบครองสารพิษอยู่ในมือ ฝ่ายนั้นถือเป็นผู้ต้องสงสัย ทำให้โอกาสที่ฝ่ายผู้เสียหายจะชนะก็มีสูงมากขึ้น

แต่นั่นก็ไม่สามารถลบความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบได้มากนัก อย่างเรื่องของ ยะเสาะ นาสวนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคลิตี้ล่าง ที่เล่าถึงผลพวงจากความล่าช้าว่า ตอนนี้มันได้ส่งผลต่อการเยียวยาสภาพร่างกายและตลอดจนลำห้วยซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของชาวบ้านจนยากจะเยียวยาได้แล้ว

“เรื่องนี้ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปีแล้ว ชาวบ้านเขาต้องอดทน จากการใช้น้ำลำห้วย แต่ก่อนมันหากินได้ เดี๋ยวนี้มันต้องหาซื้อ อย่าง ปลา หรืออะไร เพราะน้ำมันกินใช้ไม่ได้ ชาวบ้านเขาก็แค่ต้องการค่าชดเชยบ้างเพราะมันไม่มีรายได้ ถ้าไม่ได้ก็อยู่ลำบาก”

[2]

จากปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ นี้เองส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คงถึงเวลาแล้วที่มีระบบการจัดการอะไรที่เป็นพิเศษ และมีวิธีพิจารณาแบบเดียวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะคดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นความเสียหายของคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการจะทำอะไรขึ้นมา ก็ควรจะยึดหลักที่ว่า ผู้คนสามารถเข้าถึงได้เร็ว ถูก และประหยัด เพราะผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนธรรมดาๆ นี้เอง

และแน่นอน การตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมภายในศาลแพ่งและศาลปกครอง ดร.สุนทรียาก็ยอมรับตามตรงว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะถือเป็นก้าวแรกของการจัดกลุ่มคดีนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น แทนที่จะต้องพิจารณาไปตามลำดับขั้นของคดีทั่วไป และเมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่ยากต่อการพัฒนาไปสู่ระบบที่ดีขึ้นกว่านั้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ใช่หมายความว่าสุดท้ายแล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมจะได้รับการแก้ไขสำเร็จ เพราะสิ่งสำคัญมากกว่านั้นก็คือ แม้ศาลจะมีประสิทธิภาพและมีเครื่องมืออยู่ในมือมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองควรจะทำก็คือ การเปลี่ยนบทบาทของตัวเองมาทำงานเชิงรุกมากขึ้น

ตัวอย่างตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีคดีพวกนี้เยอะๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สงขลา ระยอง ก็ควรจะมีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ซึ่งการจะทำได้นั้นศาลก็ต้องมีความพร้อมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความรู้ ความสนใจในประเด็นนี้ และต้องนำมาใช้ให้ถูกกับงาน

“ตอนนี้บุคลากรที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ก็มีบ้าง แต่ยังไม่ถูกเอามาใช้อย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องรีบทำ ให้มีการแลกเปลี่ยนกันฟัง คนที่เคยทำคดีแล้วช้า มันเป็นยังไง มาเล่าให้ศาลฟัง ผู้พิพากษาตั้งที่ปรึกษาที่ช่วยทำงานด้วยได้ไหม ขณะเดียวกัน ศาลก็ต้องทำให้ชาวบ้านสามารถนำเรื่องเข้าสู่ศาลได้ง่ายๆ เช่น มีทนายความที่จะช่วยเขาได้โดยเสียเงินน้อยๆ รวมทั้งระดมสรรพกำลังร่วมกันไม่ใช่ผู้พิพากษาทำฝ่ายเดียว คือต้องมีเอ็นจีโอ นักวิชาการมาช่วย

“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องมลพิษ ความเสียหายนับจากอะไร สมมติตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติ แต่หมออาจจะบอกว่ายังไม่ป่วย เรื่องพวกนี้เราจะต้องรู้ว่าป่วยหรือยัง ควรถูกเยียวยาหรือยัง แล้วป่วยเพราะโรงงานนี้หรือเปล่า อย่างมาบตาพุดมีโรงงานสัก 100 โรงก็ต้องรู้ว่าป่วยเพราะโรงงานไหน ถ้าเรามีเครื่องมือแบบนี้ก็จะสามารถทำงานเชิงรุกได้ เพราะเราต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องช้าหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม”

เช่นเดียวกับสุทธิที่มองว่า ปัญหาหนึ่งซึ่งคาอยู่ในใจของผู้ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ก็คือเรื่องเวลา ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ก็ถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะปรับตัวตามสถานการณ์มากขึ้น เช่น การกำหนดมาตรการคุ้มครองระหว่างการพิพากษาไว้ด้วย เพราะนั่นเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ระดับหนึ่ง

“กรณีที่กระบี่ที่มีกองถ่ายภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำ กว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้น ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ถ่ายจบและยกกองถ่ายกลับไปตั้งนานแล้ว สุดท้ายก็ต้องกลับมาฟื้นฟูอ่าวกันทีหลัง ทั้งๆ ที่ความจริงควรจะมีมาตรการคุ้มครองเป็นการระงับการถ่ายทำไว้ก่อนเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง และถ้าจะว่าไปแล้วจริงๆ แล้วคดีสิ่งแวดล้อม น่าจะไปอยู่ที่ศาลปกครอง เพราะศาลปกครองนั้นเป็นศาลอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถมีอำนาจในการกำหนดมาตรการคุ้มครองได้ทันท่วงทีกว่าศาลปกติ และในอนาคตก็ควรจะมีการแยกเป็นศาลสิ่งแวดล้อมออกมาต่างหากเลย”

[3]

อย่างไรก็ดี แม้ตอนนี้จะเห็นแสงสว่างรำไรในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรเลย แม้แต่นิดว่าสุดท้ายแล้วเรื่องพวกนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะอย่างที่กล่าวว่าตั้งแต่ต้นว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและวุ่นวาย ดังนั้น หากต้องการให้เรื่องนี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอย่างแท้จริง สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือการรื้อระบบโครงสร้างทั้งหมดของเรื่องนี้ใหม่ทั้งหมด

ดร.สุนทรียาชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้ระบบคดีสิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นเอกภาพ เนื่องจากมีศาลหลายศาลที่ดูแลอยู่ ส่งผลให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ แถมยังขาดความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานของกฎหมาย เนื่องจากบางครั้งเรื่องเดียว แต่มีกฎหมายระบุมากกว่า 2-3 ฉบับ แถมบรรทัดฐานในการกำหนดก็ไม่เท่าเทียมอีกต่างหาก

“เรื่องพวกนี้ไม่ชัดเจน แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่เคลียร์ แล้วตัวบทที่มาขยายก็ไม่มี มันก็เลยเป็นปัญหา เพราะไม่มีบรรทัดฐาน ทุกอย่างจะกลายเป็นขึ้นอยู่กับอำเภอใจ ที่สำคัญเรื่องความระบบก็มีปัญหา อย่างเรื่องศาลก็ไม่ชัดเจน ตอนที่เกิดคดีผู้ที่ได้รับสารพิษจากโคบอลต์-60 เห็นได้ชัด บางคนก็ร้องศาลปกครอง บางคนก็ร้องศาลแพ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถูกนำไปหลายๆ ที่ เพราะฉะนั้นกว่าจะได้มาเรื่องหนึ่งก็นานมาก แถมมาตรฐานการตัดสินใจในคำพิพากษาก็ไปคนละทาง หรือคดีคลิตี้ก็ชัดเจน ชาวบ้านจะไปที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ศาลปกครองกลางบ้าง แล้วในที่สุดมาตรฐานคำตัดสินก็ไม่เป็นระบบ และล่าช้าไม่เห็นองค์รวม”

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องดำเนินการ ตั้งแต่ต้นทางอย่างกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักนิติวิทยาศาสตร์ อัยการ เรื่อยมาจากถึงผู้พิพากษา โดยเฉพาะการประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้ใช้งานมากที่สุด ไม่เช่นนั้นองค์กรต่างๆ จะมองแบบแยกส่วนและไม่เห็นองค์รวมของปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการผลิตบุคลากรที่เหมาะสมและเชี่ยวชาญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อจะได้เป็นตัวยืนในการแก้ปัญหาต่อไปได้

“กระบวนการบางอย่างมันต้องอาศัยระบบ เช่น กระบวนการหาพยานซึ่งหายากๆ สมมติต้องนำผลอากาศไปตรวจในห้องแล็บว่า โรงงานปล่อยสารพิษมา เขาจะทำอย่างไร เครื่องมือพวกนี้ชาวบ้านไม่มี แต่จะให้ศาลไปหาให้หมดก็ไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา และกฎหมายก็ไม่เอื้อ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีความช่วยเหลือในเชิงกฎหมาย หรือเชิงเทคนิควิทยาศาสตร์ ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ก็ต้องสถาบันด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมมาช่วย และจุดใหญ่ที่สำคัญยังมีเรื่องแบบการบุกรุกที่ดินรายใหญ่ อัยการยังไม่เข้ามาเป็นพระเอกในคดี แต่กลายเป็นว่าให้ชาวบ้านทำเอง มันก็เลยไม่ได้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับนายทุน

“เรื่องพวกนี้ต้องมีการศึกษา จริงๆ อยากให้คนที่อยู่ในระบบออกไปดูงานต่างประเทศว่า เขาทำกันอย่างไร เช่นอัยการก็ไปดูว่า เขาฟ้องผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษอย่างรุนแรง เมื่อไหร่ที่คุณทำโรงงานแย่ก็ต้องถูกปิด หรือถูกฟ้องยึดทรัพย์ ซึ่งอย่างกรณีบำบัดของเสียอย่างเรื่องคลิตี้ ถ้าเป็นอเมริกาหรือแคนาดา ก็จะถูกประเมินว่า ราคาเท่าไหร่ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน และฟื้นฟูอย่างไร แต่กลับกลายเป็นว่าคลิตี้อยู่มา 10 กว่าปีแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนเลย แล้วต่อให้ศาลให้ชนะคดี คำถามต่อมาคือใครจะมาทำการฟื้นฟูแม่น้ำตรงนี้ ทำอย่างไร ซึ่งแสดงว่าเราขาดองค์ความรู้”

ซึ่งข้อเสนอหนึ่งในการจัดระบบนี้ที่ดูจะได้รับการตอบรับมากที่สุดก็คือ การตั้ง 'ศาลสิ่งแวดล้อม' ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในเรื่องสิ่งแวดล้อม และนำมาสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างจริงจัง

“เมื่อก่อนศาลแบบนี้มีแค่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสวีเดน แต่เดี๋ยวนี้มีเป็นร้อยๆ ประเทศ แม้กระทั่งบราซิล ในป่าอะเมซอน ซึ่งอยู่ในป่าก็ยังมี แต่บางแห่งก็ไม่มีแต่เขาก็จะมีระบบของเขา เช่น ที่ฟิลิปปินส์ เขาจะมอบให้ผู้พิพากษา 1-2 คนทำแต่เรื่องนี้อย่างเดียวเลย บางแห่งก็ต้องเป็นศาลพิเศษ เช่น ศาลว่าด้วยป่าไม้ ว่าด้วยทะเล ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละแห่ง

“แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ เรื่องเครื่องมือ ซึ่งเขาคิดวิธีใหม่ๆ เยอะมาก เช่น คดีป่าไม้ ชาวบ้านบุกรุกที่เมือง ถามว่าแก้อย่างไร ถ้าเป็นบ้านเราก็เอาเข้าคุก แต่ออกมาก็ตัดอีกใช่ไหม เพราะฉะนั้นเขาจะส่งไปเรียนหนังสือ ทำเกษตรผสมผสานเลย เพื่อให้เกิดเปลี่ยนวิธี หรือเรื่องประมง ลากอวนใหญ่ ศาลเขาก็จะสั่งให้จัดอบรมเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งบริษัท เพื่อให้รู้ถึงระบบนิเวศของปลา โดยศาลลงไปคุม หรือแม้บริษัทใหญ่ก็ลงในใบหุ้นเลยว่า ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมอย่างไร ซึ่งทั้งหมดเขาเน้นการทำในเชิงรุก”

ที่สำคัญ เรื่องพวกนี้จะอาศัยเรื่องระบบกระบวนการยุติธรรมในการแก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ยังถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนตลอดจนผู้ประกอบการ ที่จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกในประเด็นสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกคนมีส่วนในการทำลายทรัพยากรและก่อให้เกิดมลพิษทั้งนั้น ซึ่งหากทำได้ ในที่สุดปัญหาก็เริ่มคลายตัวลงไปเอง
>>>>>>>>>>
……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เผยสถิติปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งสูงทุบสถิติ


ที่ประชุมว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศโลก ถกเถียงเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยพบว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังพุ่งสูงทำลายสถิติ...

การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศโลกกำหนด 2 สัปดาห์ ที่กรุงบอนน์ เยอรมนี เริ่มขึ้นเมื่อ 6 มิ.ย. โดยมีผู้แทนจาก 180 ประเทศเข้าร่วม เพื่อถกเถียงเรื่องข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อน ปูทางสู่การประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้ ในปลายปีนี้ แต่มีข่าวร้ายสำหรับที่ประชุม เมื่อรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ระบุว่า แม้จะมีความพยายามส่งเสริมเพิ่มพูน การใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกตลอด 20 ปีหลัง แต่อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังพุ่งสูงจนทำลายสถิติ

รายงานระบุว่า อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานเมื่อปีที่แล้วพุ่งขึ้นถึง 30 กิกะตัน หรือ 5% ของปี 2551 และสถานการณ์จะเปลี่ยนไปน้อยมาก ในเมื่อการลงทุนในภาคพลังงานยังเน้นไปที่ถ่านหินและระบบสาธารณูปโภคที่ใช้น้ำมัน ประเด็นอื่นๆ ที่จะสร้างความวิตกกังวลในที่ประชุมก็คือ วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 11 มี.ค. ทำให้ญี่ปุ่นและหลายชาติทั่วโลกลดละเลิกโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะเยอรมนีล้มเลิกโรงงานทั้งหมด17แห่ง ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พลังงานฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งขึ้นด้วย

คณะผู้เชี่ยวชาญของศูนย์เฝ้าระวังผู้ไร้ที่อยู่อาศัยภายในประเทศ หรือ ไอดีซีเอ็ม ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยว่าในปี 2553 ประชากรโลกกว่า 42 ล้านคน กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากภัยธรรมชาติไม่ว่าน้ำท่วมหรือพายุ ซึ่งถือว่ามากกว่าปี 2552 เกินเท่าตัว นอกจากนี้ จำนวนภัยธรรมชาติในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังเพิ่มจากประมาณ 200 ครั้ง เป็น 400 ครั้งต่อปี และภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดมีผู้ไร้ที่อยู่เป็นจำนวนมากในปีที่แล้วคือเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังคลาเทศและปากีสถาน

ไทยรัฐออนไลน์

* โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

* 7 มิถุนายน 2554, 04:43 น.

อินโดฯ รีด ปตท.สผ. 3.5หมื่นล้าน ชดใช้น้ำมั่นรั่ว – ไทยรัฐออนไลน์ 27 พ.ค.2554

ภาพไฟไหม้ระเบิดชัดเจน ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปตท. แจงต่อตลาดหลักทรัพย์และสื่อมวลชนไทยว่า ไม่มีการระเบิด แต่ที่เห็นมันแค่ไฟไหม้ที่ดับไม่ได้ในทันที หรืออย่างไร ความเสียหายของ ปตท. คนไทยมีส่วนในความเสียหาย แต่กำไร ของ ปตท. คนไทยกับไม่มีส่วน ทั้งที่ใช้น้ำมันแพงกว่ามาเลย์ เกือบ 2 เท่า และปริมาณที่ขุดที่สูบกันขึ้นมาขาย ทรัพยากรไทย ที่ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น ฯ

อินโดนีเซียเล็งเรียกเงิน ราว 35,200 ล้านบาท ชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม เหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันในเครือปตท.สผ.ของไทย เกิดไฟไหม้และระเบิด นอกชายฝั่งออสเตรเลียปีที่แล้ว จนน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลติมอร์ถึงน่านน้ำอินโด

นายเฟรดดี้ นัมเบอรี รมว.คมนาคมของอินโดนีเซีย เผยต่อสำนักข่าวออนไลน์ ดาวน์ โจนส์ นิวส์ไวร์เมื่อ 26 ส.ค. ว่า อินโดนีเซียจะเรียกค่าชดใช้ถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 35,200 ล้านบาท) เป็นค่าชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม กรณีที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน มอนทาราของบริษัท พีทีที ออสเตรเลเซียในเครือบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน (ปตท.สผ.) หรือ พีทีทีอีพีของไทย เกิดไฟไหม้ และระเบิดที่นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือออสเตรเลียปีที่แล้ว ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลติมอร์ถึงน่านน้ำอินโดฯ

นายนัมเบอรี นำคณะผู้แทนรัฐบาลอินโดฯ ไปเจรจากับพีทีที ออสเตรเลเซีย ที่เมืองเพิร์ธใน 26 ส.ค. โดยเผยว่าจะยื่นขอค่าชดใช้ขณะเจรจา ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอ ข้อเรียกร้องมีข้อมูลอย่างละเอียดสนับสนุน แม้มีข้อสงสัยว่าความเสียหายด้านระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเล และการประมงที่อินโดฯ กล่าวอ้างนั้นสามารถพิสูจน์ความจริงได้หรือไม่

ขณะที่นายอานนท์ ศิริแสงทักษิณ ประธานบริหารปตท.สผ. เผยว่ายังไม่ได้รับข้อเรียกร้องขอค่าเสียหายจากอินโดฯ ตอนนี้จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็น แต่เราต้องตั้งองค์กรร่วมเพื่อพิสูจน์ความจริงของหลักฐานว่า มีผลกระทบจากน้ำมันรั่วจริงหรือไม่ และพร้อมสนับสนุนรัฐบาลอินโดฯ

การรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะมอนทาราในช่วง 21ส.ค.-3ก.ย. 2552 นับเป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบนอกชายฝั่ง ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย แม้จะน้อยกว่าเหตุน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะของบริษัท บีพีของอังกฤษนอกชายฝั่งเม็กซิโกในปีนี้ แต่กินเวลานานหลายเดือน ขณะที่ทางบริษัทพยายามอุดรูน้ำมันรั่ว โดยใช้วิธีขุดบ่อควบคุมความดันจนสำเร็จในที่สุดเช่นเดียวกัน

น้ำมันรั่ว มากมาย ที่ตอนนี้ คงมีหลักฐานแค่ภาพถ่าย วีดีโอ และรายงานความเสียหายที่รัฐบาลออสเตรเลียทำขึ้น จำนวนมาก

องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล” (WWF) เผยว่า จากหลักฐานที่ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการสอบสวนชุดหนึ่งระบุว่า น้ำมันดิบที่รั่วจากแท่นมอนทาราขยายวงกว้างเกือบ 90,000 ตร.กม. และลามเข้าสู่น่านน้ำอินโดฯด้วย ส่วนมูลนิธิรักษ์ติมอร์ตะวันตก ซึ่งคอยสนับสนุนชาวประมงที่ยากจนทางภาคตะวันออกอินโดฯ ประเมินว่าน้ำมันที่รั่วไหลส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงราว 18,000 คน ขณะที่ธุรกิจต่างๆ อาทิ ฟาร์มสาหร่ายทะเลและหอยมุกก็ได้รับผลกระทบด้วย

อนึ่ง หลังเหตุน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีน้ำมันรั่วลงทะเลราว 4.9 ล้านบาร์เรล บริษัทบีพีได้ตั้งกองทุนชดใช้ความเสียหายแล้วถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 640,000 ล้านบาท)

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.