ขยะชายหาด สัตหีบ
วันนี้ ( 4 ก.ย.54 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชายหาดดงตาล ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ขณะนี้ได้ประสบวิกฤตปัญหาขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล โดยเฉพาะถุงพลาสติกจำนวนนับล้านชิ้นได้ลอยเข้ามาเกยชายหาด ทำให้ทำลายทัศนียภาพที่สวยงามของแหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดดงตาล บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบ หาดกองเรือยุทธการ และหาดเทียนทะเลซึ่งอยู่ในความดูแลของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง กองทัพเรือ ซึ่งล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสัตหีบ
นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริเวณชายหาดเทียนทะเล ยาวจรดไปจนถึงตลาดสัตหีบ ซึ่งมีระยะทางรวมกว่า 5 กิโลเมตร ในแต่ละวันจะมีขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล เช่น ถุงพลาสติก และกล่องโฟม ลอยเข้ามาเกยติดบริเวณชายหาดนับล้านชิ้น ทำให้ทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการจัดเก็บ และทำความสะอาดอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้ขยะหมดไปกลับมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ๆ จนยากที่จะขจัดให้หมดไปได้ สาเหตุเกิดจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมทะเล และกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงมักง่ายทิ้งขยะลงสู่ทะเล
ในอนาคตในไม่ช้า จะมีแผนบูรณการร่วมกับหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง กองเรือยุทธการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เข้ามาร่วมรณรงค์แก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยให้หมดไป หากมีการดำเนินการแล้วจำนวนขยะยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง คาดว่าในอนาคต จะทำการหารือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำการวางทุ่น ป้องกันไม่ให้ขยะมูลฝอยลอยเข้าชายฝั่ง เพื่อคืนความเป็นธรรมชาติที่สวยงาม ดั่งคำขวัญเมืองสัตหีบที่ว่า อนุรักษ์เต่าทะเล เสน่ห์ธรรมชาติ อภิวาทหลวงปู่อี๋ เขาชีจรรย์พระใหญ่ ไหว้กรมหลวงชุมพร ถิ่นขจรราชนาวี
ศาลปกครอง เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อม 4 ส.ค. 54
ศาลปกครอง เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น 9 ศาลทั่วประเทศ เพื่อรับฟ้อง และพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม
ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยถึงการเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ว่า การเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองครั้งนี้ เป็นการเปิดทำการแผนกคดีฯ พร้อมกันทุกศาลทั่วประเทศ 9 แห่ง ได้แก่ ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองระยอง ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองอุดรธานี และศาลปกครองอุบลราชธานีรับฟ้องคดีปกครองพร้อมกันในวันนี้
ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติหลักการสำคัญทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในทางสิ่งแวดล้อมและอำนาจหน้าที่ของรัฐไว้ในมาตรา 66 มาตรา 64 และมาตรา 85 โดยกำหนดให้ชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
ตลอดจนการกำหนดรับรองสิทธิของบุคคลหรือชุมชนในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐไว้ด้วยว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ได้บัญญัติรับรองสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 67
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 3/2552 เรื่องการรับรองสิทธิและเสรีภาพ และอำนาจศาลในคดีพิพาทตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน และวินิจฉัยเรื่องสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ว่า ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด
หากปรากฏว่าการดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้
จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิและเสรีภาพของชุมชนและบุคคล และอำนาจหน้าที่ของรัฐ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง โดยผ่านกลไกสำคัญของรัฐ คือ หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ และมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ด้วย และผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งนอกจากจะมีผลผูกพันคู่กรณีแล้ว ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ และส่งผลกระทบที่เชื่อมโยงไปถึงการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม รวมทั้งอาจเกี่ยวข้องโดยทางอ้อมต่อการวางนโยบายทางสิ่งแวดล้อมในบางเรื่องของรัฐอีกด้วย
ประธานศาลปกครอง ระบุว่า รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2554 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2554 กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง มีอำนาจออกประกาศจัดตั้งแผนกคดีขึ้นในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น และโดยที่ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และสาธารณชนในวงกว้าง การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลปกครอง จึงเป็นไปเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นไปโดยรวดเร็ว ทันต่อการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และทันต่อการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายไม่เฉพาะแต่คู่กรณีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันด้วย อันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และยังประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ
จากเหตุผลข้างต้น จึงเห็นสมควรจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้นทุกศาล และในส่วนของศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นศาลที่วางหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นศาลที่ต้องพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมกรณีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นควรจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การฟ้องคดีต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองเร็วและดีอย่างไร ดร.หัสวุฒิ กล่าวว่า การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมทำให้ขั้นตอนการพิจารณาคดี ตั้งแต่การฟ้องคดี จนถึงการมีคำพิพากษาของศาลเป็นขั้นตอนที่แยกการพิจารณาออกมาโดยเฉพาะจากคดีปกครองประเภทอื่น จึงทำให้คดีเสร็จรวดเร็วและเหมาะสมกับคดีสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อส่วนรวม ซึ่งรอช้าไม่ได้
ขณะที่ตุลาการศาลปกครองที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงมั่นใจได้ในความถูกต้องและเป็นธรรมของคำพิพากษา
แผนกคดีสิ่งแวดล้อม - ศาลปกครองไทย ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน
นับเป็นข่าวดีสุดๆ สำหรับวงการยุติธรรมไทยและวงการสิ่งแวดล้อม ที่ศาลแพ่งและศาลปกครองได้ตัดสินใจเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยศาลแพ่งได้ถือฤกษ์ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 เป็นวันดำเนินการวันแรก หลังจากที่ปล่อยให้ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกานำร่องเปิดแผนกนี้ตั้งแต่ปี 2548
เช่นเดียวกับศาลปกครอง ซึ่งว่ากันว่ามีคดีสิ่งแวดล้อมอยู่ล้นมือไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นคดีมาบตาพุด รวมไปถึงข้อพิพาทต่างๆ อีกมาก ระหว่างรัฐกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่กำลังจะไปสร้างในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกขยะ โรงไฟฟ้า ฯลฯ ก็ขอตามติดศาลยุติธรรม ด้วยการเปิดแผนกนี้แบบทุกระดับ ตั้งแต่ศาลปกครองชั้นต้นทั้งส่วนกลาง กับส่วนภูมิภาคอีก 9 จังหวัด ศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่ในวันที่ 2 สิงหาคม 2554 เป็นต้นมา
แน่นอน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการบ่งชี้ที่สำคัญว่า คดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และควรถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นพิเศษ เพราะต้องยอมรับว่านอกจากเรื่องนี้จะอยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างสูงแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าคดีที่เกิดขึ้น เมื่อขึ้นสู่การพิจารณาของศาลก็จะกินเวลาที่ยาวนานสุดๆ ตัวอย่างเช่น คดีมาบตาพุดซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมานานกว่า 2 ทศวรรษ แถมยังมีทีท่าจะลุกลามขึ้นอีก เพราะถึงตอนนี้กลุ่มทุนต่างๆ ก็ยังให้ความสนใจจะมาลงเงินในจุดศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไทยแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่คดีคลาสสิกอย่างกรณีของชาวหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งต้องเผชิญกับพิษตะกั่วที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยลงสู่แม่น้ำมานานกว่า 13 ปี แต่เชื่อหรือไม่ว่าคดีนี้เพิ่งเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา แล้วไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใดกันแน่
เพราะฉะนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้นับว่าเป็นเรื่องต้องจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะนี่อาจจะเป็นการพลิกโฉมของวงการยุติธรรมใหม่หน้าหนึ่ง โดยเฉพาะคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งว่ากันยุ่งยากซับซ้อน และสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
[1]
แต่ก่อนที่จะไปกล่าวถึงระบบการทำงานของสิ่งแวดล้อม เรื่องแรกที่คงต้องอธิบายให้ชัดเจนกันก่อนก็คือ ความแตกต่างหรือความพิเศษของคดีสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับคดีทั่วๆ ไปนั้นเป็นเช่นใด
ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญคดีประเภทนี้ อธิบายว่า หากมองเผินๆ หลายคนคงไม่เห็นความแตกต่างอะไรมากนัก เพราะเอาเข้าจริง คดีสิ่งแวดล้อมก็คือคดีละเมิดประเภทหนึ่งนั่นเอง เช่น หากคุณเดินถนนอยู่ดีๆ แล้วมีรถมาชน คุณก็คือผู้เสียหาย ซึ่งก็เหมือนกับคุณอยู่บ้านเฉยๆ จู่ๆ วันหนึ่งก็มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้ง แล้วปล่อยควันพิษ น้ำเสียออกมา คุณก็ถือเป็นผู้เสียหายเช่นกัน แต่หากมองให้ลึกๆ ให้เห็นว่า นี่คือคดีที่มีความซับซ้อน เป็นคดีปัญหาของผู้บริโภคประเภทหนึ่ง ก็จะพบว่าเรื่องนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อใครคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังส่งผลคนจำนวนมากอีกด้วย เพราะฉะนั้นการมีเครื่องมืออะไรสักอย่างเข้ามาจัดการ เพื่อทำให้กระบวนการเรียกการเรียกร้องสิทธิทำได้ง่ายขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น
“คดีพวกนี้มันมีความซับซ้อน มีเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องมลพิษถือว่าชัดมาก เพราะมันจะมีตั้งแต่เรื่องสารอะไรเกิดขึ้น พิสูจน์อย่างไร น้ำใต้ดินหรือดินเสียมาจากไหน ซึ่งเราเรียกว่าความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์ได้ยาก หรือเรื่องจีเอ็มผิดไม่ผิด
“และถ้าย้อนไปดูสมัยที่ยังไม่มีศาลปกครอง ตอนแรกก็มักจะเป็นคดีระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่พอมันใหญ่ขึ้นหรือมีผลกระทบมากขึ้น ก็จะพันไปกับหน่วยงานของรัฐทันที ยกตัวอย่างเช่นเราเลี้ยงหมูตัวหนึ่งที่บ้านไม่เป็นปัญหา แต่พอเลี้ยงเป็นฟาร์มก็ต้องมีหน่วยงานสาธารณสุขมาให้อนุญาต หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร กฎหมายสาธารณสุขก็เข้ามาเหมือนกัน เพราะนั่นแสดงว่าคุณเริ่มมีผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งถ้าระบบย่อยก็ผ่านเทศบาล อบต. แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ก็เป็นระดับกรม กระทรวง บางทีก็ข้ามกระทรวงเลยก็มี
“เพราะฉะนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ หากรัฐอนุมัติไม่ถูกหรือคุมไม่ดี ก็จะกลายเป็นว่ารัฐเข้าไปเสริมเอกชนกลุ่มหนึ่งให้ไปทำร้ายเอกชนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไม่ตั้งใจ ดังนั้นอย่างคดีแพ่ง ถ้าไปคิดแบบเดิมมันทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอมีระบบปกครองเข้ามาก็ช่วยได้ เช่น รัฐทำอะไรไม่ดี ศาลปกครองก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ แต่ถามว่าเขาทำได้เต็มที่หรือยัง เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ ความท้าทายก็คือเวลาพิจารณามันก็ต้องมีการชั่งน้ำหนักว่าระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ป่วยซึ่งรับมลพิษกับผู้ประกอบการที่รัฐอนุญาต แถมยังมีเรื่องเศรษฐกิจของประเทศเข้ามาเกี่ยว ศาลปกครองจะทำอย่างไรให้สมดุล ซึ่งถ้าไปคุมมากศาลก็จะถูกด่าว่า คุณใช้อำนาจแทนรัฐหรือเปล่า ขณะที่อีกฝ่ายก็จะบอกว่าคุณมีอำนาจมากขนาดนี้ ทำไมไม่ใช้ให้เพียงพอ เพราะฉะนั้นมันจึงมีความซับซ้อนสูงมาก”
ที่สำคัญ ต้องยอมรับด้วยว่า คดีพวกนี้มักจะเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล ผู้มีอำนาจทางบ้านเมือง รวมไปถึงกลุ่มทุนต่างๆ ก็ยิ่งทำให้คดีสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
ไม่แค่นั้น บุคลากรในแวดวงยุติธรรมที่เป็นอยู่ก็ถือเป็นปัญหา เพราะคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ก็มีอยู่จำนวนน้อยนิด โดย สุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งต่อสู้เรื่องของสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน สะท้อนปัญหาให้เห็นว่า สิ่งที่ลำบากที่สุดของเรื่องนี้ก็คือข้อมูล โดยชาวบ้านจะต้องเป็นคนเตรียมข้อมูลเอง และข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่อธิบายปากเปล่าไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่ชำนาญงานเข้ามาช่วยทำ ซึ่งสุดท้ายก็จะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอีกมากมาย และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ โอกาสที่ชุมชนได้รับข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าคดีสิ่งแวดล้อมจะมีแต่ปัญหาสักทีเดียว เพราะในมุมของทนายความอย่าง สุรสีห์ พลไชยวงศ์ กรรมการสภาทนายความ จังหวัดกาญจนบุรี ฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งทำคดีชาวหมู่บ้านคลิตี้ ก็ยังบอกข้อดีของคดีเหล่านี้ โดยเฉพาะคดีแพ่งนั้นอายุความไม่ได้แค่ 1 ปีเหมือนคดีปกติ และมีถึง 10 ปีเลยทีเดียว ที่สำคัญในเรื่องภาวะการพิสูจน์ โดยทั่วไปฝ่ายโจทย์จะเป็นผู้พิสูจน์ แต่คดีสิ่งแวดล้อมนั้นกลับกัน เพราะถือว่าใครเป็นผู้ครอบครองสารพิษอยู่ในมือ ฝ่ายนั้นถือเป็นผู้ต้องสงสัย ทำให้โอกาสที่ฝ่ายผู้เสียหายจะชนะก็มีสูงมากขึ้น
แต่นั่นก็ไม่สามารถลบความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบได้มากนัก อย่างเรื่องของ ยะเสาะ นาสวนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคลิตี้ล่าง ที่เล่าถึงผลพวงจากความล่าช้าว่า ตอนนี้มันได้ส่งผลต่อการเยียวยาสภาพร่างกายและตลอดจนลำห้วยซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของชาวบ้านจนยากจะเยียวยาได้แล้ว
“เรื่องนี้ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปีแล้ว ชาวบ้านเขาต้องอดทน จากการใช้น้ำลำห้วย แต่ก่อนมันหากินได้ เดี๋ยวนี้มันต้องหาซื้อ อย่าง ปลา หรืออะไร เพราะน้ำมันกินใช้ไม่ได้ ชาวบ้านเขาก็แค่ต้องการค่าชดเชยบ้างเพราะมันไม่มีรายได้ ถ้าไม่ได้ก็อยู่ลำบาก”
[2]
จากปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ นี้เองส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คงถึงเวลาแล้วที่มีระบบการจัดการอะไรที่เป็นพิเศษ และมีวิธีพิจารณาแบบเดียวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะคดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นความเสียหายของคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการจะทำอะไรขึ้นมา ก็ควรจะยึดหลักที่ว่า ผู้คนสามารถเข้าถึงได้เร็ว ถูก และประหยัด เพราะผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนธรรมดาๆ นี้เอง
และแน่นอน การตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมภายในศาลแพ่งและศาลปกครอง ดร.สุนทรียาก็ยอมรับตามตรงว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะถือเป็นก้าวแรกของการจัดกลุ่มคดีนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น แทนที่จะต้องพิจารณาไปตามลำดับขั้นของคดีทั่วไป และเมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่ยากต่อการพัฒนาไปสู่ระบบที่ดีขึ้นกว่านั้น
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ใช่หมายความว่าสุดท้ายแล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมจะได้รับการแก้ไขสำเร็จ เพราะสิ่งสำคัญมากกว่านั้นก็คือ แม้ศาลจะมีประสิทธิภาพและมีเครื่องมืออยู่ในมือมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองควรจะทำก็คือ การเปลี่ยนบทบาทของตัวเองมาทำงานเชิงรุกมากขึ้น
ตัวอย่างตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีคดีพวกนี้เยอะๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สงขลา ระยอง ก็ควรจะมีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ซึ่งการจะทำได้นั้นศาลก็ต้องมีความพร้อมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความรู้ ความสนใจในประเด็นนี้ และต้องนำมาใช้ให้ถูกกับงาน
“ตอนนี้บุคลากรที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ก็มีบ้าง แต่ยังไม่ถูกเอามาใช้อย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องรีบทำ ให้มีการแลกเปลี่ยนกันฟัง คนที่เคยทำคดีแล้วช้า มันเป็นยังไง มาเล่าให้ศาลฟัง ผู้พิพากษาตั้งที่ปรึกษาที่ช่วยทำงานด้วยได้ไหม ขณะเดียวกัน ศาลก็ต้องทำให้ชาวบ้านสามารถนำเรื่องเข้าสู่ศาลได้ง่ายๆ เช่น มีทนายความที่จะช่วยเขาได้โดยเสียเงินน้อยๆ รวมทั้งระดมสรรพกำลังร่วมกันไม่ใช่ผู้พิพากษาทำฝ่ายเดียว คือต้องมีเอ็นจีโอ นักวิชาการมาช่วย
“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องมลพิษ ความเสียหายนับจากอะไร สมมติตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติ แต่หมออาจจะบอกว่ายังไม่ป่วย เรื่องพวกนี้เราจะต้องรู้ว่าป่วยหรือยัง ควรถูกเยียวยาหรือยัง แล้วป่วยเพราะโรงงานนี้หรือเปล่า อย่างมาบตาพุดมีโรงงานสัก 100 โรงก็ต้องรู้ว่าป่วยเพราะโรงงานไหน ถ้าเรามีเครื่องมือแบบนี้ก็จะสามารถทำงานเชิงรุกได้ เพราะเราต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องช้าหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม”
เช่นเดียวกับสุทธิที่มองว่า ปัญหาหนึ่งซึ่งคาอยู่ในใจของผู้ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ก็คือเรื่องเวลา ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ก็ถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะปรับตัวตามสถานการณ์มากขึ้น เช่น การกำหนดมาตรการคุ้มครองระหว่างการพิพากษาไว้ด้วย เพราะนั่นเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ระดับหนึ่ง
“กรณีที่กระบี่ที่มีกองถ่ายภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำ กว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้น ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ถ่ายจบและยกกองถ่ายกลับไปตั้งนานแล้ว สุดท้ายก็ต้องกลับมาฟื้นฟูอ่าวกันทีหลัง ทั้งๆ ที่ความจริงควรจะมีมาตรการคุ้มครองเป็นการระงับการถ่ายทำไว้ก่อนเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง และถ้าจะว่าไปแล้วจริงๆ แล้วคดีสิ่งแวดล้อม น่าจะไปอยู่ที่ศาลปกครอง เพราะศาลปกครองนั้นเป็นศาลอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถมีอำนาจในการกำหนดมาตรการคุ้มครองได้ทันท่วงทีกว่าศาลปกติ และในอนาคตก็ควรจะมีการแยกเป็นศาลสิ่งแวดล้อมออกมาต่างหากเลย”
[3]
อย่างไรก็ดี แม้ตอนนี้จะเห็นแสงสว่างรำไรในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรเลย แม้แต่นิดว่าสุดท้ายแล้วเรื่องพวกนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะอย่างที่กล่าวว่าตั้งแต่ต้นว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและวุ่นวาย ดังนั้น หากต้องการให้เรื่องนี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอย่างแท้จริง สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือการรื้อระบบโครงสร้างทั้งหมดของเรื่องนี้ใหม่ทั้งหมด
ดร.สุนทรียาชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้ระบบคดีสิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นเอกภาพ เนื่องจากมีศาลหลายศาลที่ดูแลอยู่ ส่งผลให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ แถมยังขาดความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานของกฎหมาย เนื่องจากบางครั้งเรื่องเดียว แต่มีกฎหมายระบุมากกว่า 2-3 ฉบับ แถมบรรทัดฐานในการกำหนดก็ไม่เท่าเทียมอีกต่างหาก
“เรื่องพวกนี้ไม่ชัดเจน แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่เคลียร์ แล้วตัวบทที่มาขยายก็ไม่มี มันก็เลยเป็นปัญหา เพราะไม่มีบรรทัดฐาน ทุกอย่างจะกลายเป็นขึ้นอยู่กับอำเภอใจ ที่สำคัญเรื่องความระบบก็มีปัญหา อย่างเรื่องศาลก็ไม่ชัดเจน ตอนที่เกิดคดีผู้ที่ได้รับสารพิษจากโคบอลต์-60 เห็นได้ชัด บางคนก็ร้องศาลปกครอง บางคนก็ร้องศาลแพ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถูกนำไปหลายๆ ที่ เพราะฉะนั้นกว่าจะได้มาเรื่องหนึ่งก็นานมาก แถมมาตรฐานการตัดสินใจในคำพิพากษาก็ไปคนละทาง หรือคดีคลิตี้ก็ชัดเจน ชาวบ้านจะไปที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ศาลปกครองกลางบ้าง แล้วในที่สุดมาตรฐานคำตัดสินก็ไม่เป็นระบบ และล่าช้าไม่เห็นองค์รวม”
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องดำเนินการ ตั้งแต่ต้นทางอย่างกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักนิติวิทยาศาสตร์ อัยการ เรื่อยมาจากถึงผู้พิพากษา โดยเฉพาะการประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้ใช้งานมากที่สุด ไม่เช่นนั้นองค์กรต่างๆ จะมองแบบแยกส่วนและไม่เห็นองค์รวมของปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการผลิตบุคลากรที่เหมาะสมและเชี่ยวชาญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อจะได้เป็นตัวยืนในการแก้ปัญหาต่อไปได้
“กระบวนการบางอย่างมันต้องอาศัยระบบ เช่น กระบวนการหาพยานซึ่งหายากๆ สมมติต้องนำผลอากาศไปตรวจในห้องแล็บว่า โรงงานปล่อยสารพิษมา เขาจะทำอย่างไร เครื่องมือพวกนี้ชาวบ้านไม่มี แต่จะให้ศาลไปหาให้หมดก็ไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา และกฎหมายก็ไม่เอื้อ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีความช่วยเหลือในเชิงกฎหมาย หรือเชิงเทคนิควิทยาศาสตร์ ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ก็ต้องสถาบันด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมมาช่วย และจุดใหญ่ที่สำคัญยังมีเรื่องแบบการบุกรุกที่ดินรายใหญ่ อัยการยังไม่เข้ามาเป็นพระเอกในคดี แต่กลายเป็นว่าให้ชาวบ้านทำเอง มันก็เลยไม่ได้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับนายทุน
“เรื่องพวกนี้ต้องมีการศึกษา จริงๆ อยากให้คนที่อยู่ในระบบออกไปดูงานต่างประเทศว่า เขาทำกันอย่างไร เช่นอัยการก็ไปดูว่า เขาฟ้องผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษอย่างรุนแรง เมื่อไหร่ที่คุณทำโรงงานแย่ก็ต้องถูกปิด หรือถูกฟ้องยึดทรัพย์ ซึ่งอย่างกรณีบำบัดของเสียอย่างเรื่องคลิตี้ ถ้าเป็นอเมริกาหรือแคนาดา ก็จะถูกประเมินว่า ราคาเท่าไหร่ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน และฟื้นฟูอย่างไร แต่กลับกลายเป็นว่าคลิตี้อยู่มา 10 กว่าปีแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนเลย แล้วต่อให้ศาลให้ชนะคดี คำถามต่อมาคือใครจะมาทำการฟื้นฟูแม่น้ำตรงนี้ ทำอย่างไร ซึ่งแสดงว่าเราขาดองค์ความรู้”
ซึ่งข้อเสนอหนึ่งในการจัดระบบนี้ที่ดูจะได้รับการตอบรับมากที่สุดก็คือ การตั้ง 'ศาลสิ่งแวดล้อม' ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในเรื่องสิ่งแวดล้อม และนำมาสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างจริงจัง
“เมื่อก่อนศาลแบบนี้มีแค่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสวีเดน แต่เดี๋ยวนี้มีเป็นร้อยๆ ประเทศ แม้กระทั่งบราซิล ในป่าอะเมซอน ซึ่งอยู่ในป่าก็ยังมี แต่บางแห่งก็ไม่มีแต่เขาก็จะมีระบบของเขา เช่น ที่ฟิลิปปินส์ เขาจะมอบให้ผู้พิพากษา 1-2 คนทำแต่เรื่องนี้อย่างเดียวเลย บางแห่งก็ต้องเป็นศาลพิเศษ เช่น ศาลว่าด้วยป่าไม้ ว่าด้วยทะเล ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละแห่ง
“แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ เรื่องเครื่องมือ ซึ่งเขาคิดวิธีใหม่ๆ เยอะมาก เช่น คดีป่าไม้ ชาวบ้านบุกรุกที่เมือง ถามว่าแก้อย่างไร ถ้าเป็นบ้านเราก็เอาเข้าคุก แต่ออกมาก็ตัดอีกใช่ไหม เพราะฉะนั้นเขาจะส่งไปเรียนหนังสือ ทำเกษตรผสมผสานเลย เพื่อให้เกิดเปลี่ยนวิธี หรือเรื่องประมง ลากอวนใหญ่ ศาลเขาก็จะสั่งให้จัดอบรมเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งบริษัท เพื่อให้รู้ถึงระบบนิเวศของปลา โดยศาลลงไปคุม หรือแม้บริษัทใหญ่ก็ลงในใบหุ้นเลยว่า ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมอย่างไร ซึ่งทั้งหมดเขาเน้นการทำในเชิงรุก”
ที่สำคัญ เรื่องพวกนี้จะอาศัยเรื่องระบบกระบวนการยุติธรรมในการแก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ยังถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนตลอดจนผู้ประกอบการ ที่จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกในประเด็นสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกคนมีส่วนในการทำลายทรัพยากรและก่อให้เกิดมลพิษทั้งนั้น ซึ่งหากทำได้ ในที่สุดปัญหาก็เริ่มคลายตัวลงไปเอง
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
เผยสถิติปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งสูงทุบสถิติ
ที่ประชุมว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศโลก ถกเถียงเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยพบว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังพุ่งสูงทำลายสถิติ...
การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศโลกกำหนด 2 สัปดาห์ ที่กรุงบอนน์ เยอรมนี เริ่มขึ้นเมื่อ 6 มิ.ย. โดยมีผู้แทนจาก 180 ประเทศเข้าร่วม เพื่อถกเถียงเรื่องข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อน ปูทางสู่การประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้ ในปลายปีนี้ แต่มีข่าวร้ายสำหรับที่ประชุม เมื่อรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ระบุว่า แม้จะมีความพยายามส่งเสริมเพิ่มพูน การใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกตลอด 20 ปีหลัง แต่อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังพุ่งสูงจนทำลายสถิติ
รายงานระบุว่า อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานเมื่อปีที่แล้วพุ่งขึ้นถึง 30 กิกะตัน หรือ 5% ของปี 2551 และสถานการณ์จะเปลี่ยนไปน้อยมาก ในเมื่อการลงทุนในภาคพลังงานยังเน้นไปที่ถ่านหินและระบบสาธารณูปโภคที่ใช้น้ำมัน ประเด็นอื่นๆ ที่จะสร้างความวิตกกังวลในที่ประชุมก็คือ วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 11 มี.ค. ทำให้ญี่ปุ่นและหลายชาติทั่วโลกลดละเลิกโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะเยอรมนีล้มเลิกโรงงานทั้งหมด17แห่ง ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พลังงานฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งขึ้นด้วย
คณะผู้เชี่ยวชาญของศูนย์เฝ้าระวังผู้ไร้ที่อยู่อาศัยภายในประเทศ หรือ ไอดีซีเอ็ม ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยว่าในปี 2553 ประชากรโลกกว่า 42 ล้านคน กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากภัยธรรมชาติไม่ว่าน้ำท่วมหรือพายุ ซึ่งถือว่ามากกว่าปี 2552 เกินเท่าตัว นอกจากนี้ จำนวนภัยธรรมชาติในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังเพิ่มจากประมาณ 200 ครั้ง เป็น 400 ครั้งต่อปี และภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดมีผู้ไร้ที่อยู่เป็นจำนวนมากในปีที่แล้วคือเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังคลาเทศและปากีสถาน
ไทยรัฐออนไลน์
* โดย ทีมข่าวต่างประเทศ
* 7 มิถุนายน 2554, 04:43 น.
อินโดฯ รีด ปตท.สผ. 3.5หมื่นล้าน ชดใช้น้ำมั่นรั่ว – ไทยรัฐออนไลน์ 27 พ.ค.2554
อินโดนีเซียเล็งเรียกเงิน ราว 35,200 ล้านบาท ชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม เหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันในเครือปตท.สผ.ของไทย เกิดไฟไหม้และระเบิด นอกชายฝั่งออสเตรเลียปีที่แล้ว จนน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลติมอร์ถึงน่านน้ำอินโด
นายเฟรดดี้ นัมเบอรี รมว.คมนาคมของอินโดนีเซีย เผยต่อสำนักข่าวออนไลน์ “ดาวน์ โจนส์ นิวส์ไวร์” เมื่อ 26 ส.ค. ว่า อินโดนีเซียจะเรียกค่าชดใช้ถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 35,200 ล้านบาท) เป็นค่าชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม กรณีที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน “มอนทารา” ของบริษัท “พีทีที ออสเตรเลเซีย” ในเครือบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน (ปตท.สผ.) หรือ “พีทีทีอีพี” ของไทย เกิดไฟไหม้ และระเบิดที่นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือออสเตรเลียปีที่แล้ว ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลติมอร์ถึงน่านน้ำอินโดฯ
นายนัมเบอรี นำคณะผู้แทนรัฐบาลอินโดฯ ไปเจรจากับพีทีที ออสเตรเลเซีย ที่เมืองเพิร์ธใน 26 ส.ค. โดยเผยว่าจะยื่นขอค่าชดใช้ขณะเจรจา ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอ ข้อเรียกร้องมีข้อมูลอย่างละเอียดสนับสนุน แม้มีข้อสงสัยว่าความเสียหายด้านระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเล และการประมงที่อินโดฯ กล่าวอ้างนั้นสามารถพิสูจน์ความจริงได้หรือไม่
ขณะที่นายอานนท์ ศิริแสงทักษิณ ประธานบริหารปตท.สผ. เผยว่ายังไม่ได้รับข้อเรียกร้องขอค่าเสียหายจากอินโดฯ ตอนนี้จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็น แต่เราต้องตั้งองค์กรร่วมเพื่อพิสูจน์ความจริงของหลักฐานว่า มีผลกระทบจากน้ำมันรั่วจริงหรือไม่ และพร้อมสนับสนุนรัฐบาลอินโดฯ
การรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะมอนทาราในช่วง 21ส.ค.-3ก.ย. 2552 นับเป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบนอกชายฝั่ง ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย แม้จะน้อยกว่าเหตุน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะของบริษัท “บีพี” ของอังกฤษนอกชายฝั่งเม็กซิโกในปีนี้ แต่กินเวลานานหลายเดือน ขณะที่ทางบริษัทพยายามอุดรูน้ำมันรั่ว โดยใช้วิธีขุดบ่อควบคุมความดันจนสำเร็จในที่สุดเช่นเดียวกัน
น้ำมันรั่ว มากมาย ที่ตอนนี้ คงมีหลักฐานแค่ภาพถ่าย วีดีโอ และรายงานความเสียหายที่รัฐบาลออสเตรเลียทำขึ้น จำนวนมาก
องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล” (WWF) เผยว่า จากหลักฐานที่ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการสอบสวนชุดหนึ่งระบุว่า น้ำมันดิบที่รั่วจากแท่นมอนทาราขยายวงกว้างเกือบ 90,000 ตร.กม. และลามเข้าสู่น่านน้ำอินโดฯด้วย ส่วนมูลนิธิรักษ์ติมอร์ตะวันตก ซึ่งคอยสนับสนุนชาวประมงที่ยากจนทางภาคตะวันออกอินโดฯ ประเมินว่าน้ำมันที่รั่วไหลส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงราว 18,000 คน ขณะที่ธุรกิจต่างๆ อาทิ ฟาร์มสาหร่ายทะเลและหอยมุกก็ได้รับผลกระทบด้วย
อนึ่ง หลังเหตุน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีน้ำมันรั่วลงทะเลราว 4.9 ล้านบาร์เรล บริษัทบีพีได้ตั้งกองทุนชดใช้ความเสียหายแล้วถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 640,000 ล้านบาท)
5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก
5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีนั้น เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งเป็นวันที่เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสภาพแวดล้อมของเราที่ย่ำแย่ลงทุกวัน สังเกตได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งหิมะขั้วโลกเหนือละลาย น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรืออากาศร้อนขึ้น ซึ่งผลเหล่านี้ล้วนมาจากการมนุษย์ที่เป็นคนทำลายธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อมดีๆ นั่นเอง ทำให้หน่วยงานของโลกจัดตั้งวันสิ่งแวดล้อมโลกขึ้น
สำหรับจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้นจัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮลม์ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า"การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์" หรือ "UN Conference on the Human Environment" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือ จากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก
ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่ติดตาม และประเมินผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดี และเพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลจึงได้กำหนดวิธีการไว้ดังนี้
สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษากับประชาชนและนักศึกษาทั่วไป
ให้การสนับสนุนทางวิชาการ และเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
เสริมสร้างให้สถาบันและคนในสถาบันตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น ยังมีข้อตกลงจากการประชุมให้มาดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ซึ่งประเทศไทยก็ได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 และได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดำเนินงาน ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็น 3 หน่วยงาน คือ
1.กรมควบคุมมลพิษ
2 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
3.สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
และในส่วนของสถาบันการศึกษาก็ได้มีการจัดสอนหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสื่อมวลชนก็ได้ส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งวันสิ่งแวดล้อมโลกในแต่ละปีก็จะมีหัวข้อที่ต่างกันออกไป
พ.ศ. 2528 เยาวชน ประชากร และสิ่งแวดล้อม (Youth, Population and Environment)
พ.ศ. 2529 ต้นไม้เพื่อสันติภาพ (A Tree for Peace)
พ.ศ. 2530 (Public Participation,Environment Protection and Sustainable Development)
พ.ศ. 2531 การมีส่วนร่วมของประชาชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (When people put the environment first,development will last)
พ.ศ. 2532 ภาวะโลกร้อน (Global Warming,Global Warming)
พ.ศ. 2533 เด็ก และสิ่งแวดล้อม (Children and the Environment (Our Children,Their Earth))
พ.ศ. 2534 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change : Need for Global Partnership)
พ.ศ. 2535 (Only One Earth : Care and Share)
พ.ศ. 2536 (Poverty and the Environment : Breaking the Vicious Circle)
พ.ศ. 2537 โลกใบเดียว ครอบครัวเดียวกัน (One Earth, One Family)
พ.ศ. 2538 ประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมโลก (We The Peoples,United for the Global Environment)
พ.ศ. 2539 รักโลก : ดูแลถิ่นฐานบ้านเรา (Our Earth, Our Habitat,Our Home)
พ.ศ. 2540 เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนบนผืนโลก (For Life one Earth)
พ.ศ. 2541 เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีวิตยั่งยืน (For Life on Earth "Save our Seas")
พ.ศ. 2542 รักโลก รักอนาคต รักษ์สิ่งแวดล้อม ("Our Earth,Our Future...Just Save It")
พ.ศ. 2543 ปี 2000 สหัสวรรษแห่งชีวิตสิ่งแวดล้อม : ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อโลก เพื่อเรา (2000 The Environment Millennium :Time to Act)
พ.ศ. 2544 เชื่อมโยงโลกกว้าง ร่วมสร้างสานสายใยชีวิต (CONNECT with the World Wide Web of Life)
พ.ศ. 2545 ให้โอกาสโลกฟื้น คืนความสดใสให้ชีวิต (Give Earth a Chance)
พ.ศ. 2546 รักษ์น้ำเพื่อสรรพชีวิต ก่อนวิกฤตจะมาเยือน (Water - Two Billion People are Dying for it!)
พ.ศ. 2547 ร่วมพิทักษ์ ร่วมรักษ์ทะเลไทย (Wanted! Sea and Oceans - Dead or Live?)
พ.ศ. 2548 เมืองเขียวสดใส ร่วมใจวางแผนเพื่อโลก (GREEN CITIES PLAN FOR THE PLANET!)
พ.ศ. 2549 เพิ่มความชุ่มชื้น คืนสู่ธรรมชาติ (DON T DESERT DRYLANDS!)
พ.ศ. 2550 ลดโลกร้อน ด้วยชีวิตพอเพียง (MELTING ICE-A HOT TOPIC)
พ.ศ. 2551 ลดวิกฤติโลกร้อน : เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับแนวคิด สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Co2 Kick the Habit ! Towards a Low Carbon Economy)
พ.ศ. 2552 คุณคือพลัง ช่วยหยุดยั้งภาวะโลกร้อน (Your Planet Needs You - Unite to Combat Climate Change)
พ.ศ. 2553 ความหลากหลายทางชีวภาพ กู้วิกฤติชีวิตโลก (Many Species One Planet One Future)
พ.ศ. 2554 ป่าไม้มีคุณ เกื้อหนุนสรรพชีวิต คิดถนอมรักษา (Forests:Nature at your Service
)
โลกร้อน เกิดภัยพิบัติมากมาย ดังนั้นถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราจะร่วมช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมกันแบบจริง ๆ จัง ๆ เพื่อเก็บมันเอาไว้ให้ลูกหลานของเราได้เห็น
การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม - สราวุธ เบญจกุล
ประโยชน์ของป่าไม้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงสิ่งที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ได้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ป่าไม้มีส่วนในการรักษาคุณภาพและควบคุมปริมาณทรัพยากรน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ต้นไม้ในป่าสามารถช่วยดูดซับและกักเก็บปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน นอกจากนี้การที่พื้นที่ของป่าไม้ลดลงย่อมมีผลกระทบต่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ สัตว์ป่าหายากบางชนิดต้องสูญพันธ์ไปเพราะขาดผืนป่าที่เป็นบ้าน และแหล่งอาหารที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
องค์การสหประชาชาติเองได้พยายามส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้โดยเสนอแนะแนวทางในการลดปริมาณคาร์บอนด้วยการลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดการทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา หรือที่เรียกว่า Reducing Emissions From Deforestation and Forest Degradation (REDD) in developing countries ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) โดยเสนอแนะวิธีการใช้กลไกตลาดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเข้าเป็นสมาชิกของ REDD และดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งนี้หากประเทศที่พัฒนาแล้วมีพันธกรณีตามสนธิสัญญา ที่จะต้องลดปริมาณคาร์บอนแต่ไม่สามารถทำได้ในระดับที่กำหนดไว้ ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่กำลังพัฒนากลุ่มนี้เพื่อลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นไปตามพันธกรณี ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะได้รับประโยชน์เป็นจำนวนเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
แม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของ REDD แต่ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์อยู่หลายฉบับด้วยกัน เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 85 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดูแลรักษาทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวนบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมถึงการดำเนินการส่งเสริม บำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งที่รัฐต้องดำเนินการในการดูแลรักษาทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชน
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายครอบคลุมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง บำรุงรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเร่งรัดฟื้นฟูสภาพป่าจากการถูกทำลายอันเป็นเหตุให้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติขาดความสมดุล เห็นได้จากการที่มาตรา 54 บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้ใด ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า...” หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 72 ตรี กำหนดให้บุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจต้องรับโทษหนักขึ้นในกรณีที่กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ นอกจากนี้ศาลยังมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิด ออกไปจากป่านั้นได้ด้วย
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยกำหนดให้พื้นที่บางส่วนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งรัฐมีหน้าที่สงวนค้มครองมิให้ถูกบุกรุกและทำลาย การกระทำโดยประการใดๆอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เช่นเข้าไปตัดไม้หรือเผาป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท เว้นแต่ในบางกรณีเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ประชาชนจึงจะสามารถเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนได้เป็นการชั่วคราวตามความจำเป็น เช่นการเข้าไปเก็บของป่า หรือการเข้าอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เช่น พันธ์ไม้และของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่าและภูเขา ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป การเข้าไปดำเนินกิจการใดๆเพื่อหาผลประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ต้องไม่มีลักษณะที่เป็นการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของอุทยานแห่งชาตินั้น บุคคลใดฝ่าฝืน เช่น เข้าไปเผาป่า หรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต้องเสื่อมสภาพไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 5472/2545 ที่ศาลฎีกาพิจารณาถึงความร้ายแรงและผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติประกอบการวินิจฉัยกรณีที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น โดยเห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานยึดได้ชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจำนวนถึง 30 กิโลกรัม เป็นของกลางซึ่งนับว่าเป็นของป่าหวงห้ามจำนวนมาก จำเลยเข้าไปเก็บหาและนำออกไปซึ่งชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจากเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการลักลอบเก็บหาของป่าหวงห้ามเพื่อนำเอาไปขายทำให้ป่าไม้ถูกทำลายและเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งผืนดินพังทลาย ลำน้ำตื้นเขินหรือเกิดอุทกภัย และเป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนับเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงจการที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยรวมสองกระทงจำคุก 9 เดือน โดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่หลายแห่ง และบางแห่งได้รับการยอมรับจากองค์กร UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ให้เป็นมรดกโลก ได้แก่เขตพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งพื้นที่ป่าเหล่านี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีพรรณไม้และสัตว์ป่าหายากหลายสายพันธ์ และสมควรที่จะได้รับความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์ จากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคประชาชน นอกเหนือจากกฎหมายที่ดีแล้ว การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและปวงชนรุ่นหลังที่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในการดำรงชีวิตอย่างปกติในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
ศาลสิ่งแวดล้อม (Green Bench) - สราวุธ เบญจกุล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสังคมต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบซึ่งล้วนแต่มีลักษณะความรุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบ้าง เช่น เหตุการณ์ดินถล่มที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และ เหตุการณ์วิกฤติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งสร้างความตื่นตระหนกและก่อให้เกิดความกังวลในวงกว้าง เกือบทุกประเทศเฝ้าติดตามวิกฤตการณ์ครั้งนี้ว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างไร
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สังคมต้องให้ความสำคัญในการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ทัศนียภาพของเมือง การกำจัดขยะ หรือการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
ศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลฎีกาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้มีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถึง ภาค 9 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นสู่ชั้นศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ปัจจุบันมีนายประทีป เฉลิมภัทรกุล เป็นประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา
เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชนกรณีสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ศาลยุติธรรมโดยคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมจึงได้ออกประกาศให้จัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลชั้นต้น ได้แก่ศาลแพ่งเป็นแห่งแรกเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมจะเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป
สิ่งที่สังคมจะได้รับจากการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นที่ศาลชั้นต้น คือ ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมสามารถยื่นฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมได้ที่ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแผนกคดีชำนัญพิเศษ
คำแนะนำของประธานศาลฎีกากำหนดให้ “คดีสิ่งแวดล้อม” หมายถึง
1. คดีแพ่งที่การกระทำตามคำฟ้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของชุมชน หรือระบบนิเวศ
2. คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมของชุมชน
3. คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หรือเพื่อมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป
4. คดีแพ่งที่มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพอนามัย หรือสิทธิใด ๆ ของโจทก์ อันเกิดจากมลพิษที่จำเลยเป็นผู้ก่อหรือต้องรับผิด
คดีสิ่งแวดล้อมดังกล่าวข้างต้นอาจเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ
ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติ หรือประกาศของคณะปฏิวัติ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือมลพิษ
สิทธิที่จะฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่จะได้ประโยชน์จาก
ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ
และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เช่น จำเลยปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานลงสู่แม่น้ำสาธารณะโดยไม่บำบัดก่อน ทำให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสีย โจทก์นำน้ำนั้นไปใช้ในการเกษตรกรรมของตน ทำให้พืชไร่ของโจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทำให้แม่น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายของโจทก์ จึงเป็นคดีสิ่งแวดล้อม
กรณีตัวอย่างอีกหนึ่ง คือ จำเลยก่อสร้างอาคารทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงบ้านของโจทก์และไม่มีลมพัดเข้ามาบ้านเหมือนเดิม โจทก์เสียหายต้องใช้แอร์ พัดลม และเครื่องปั่นเสื้อผ้าให้แห้งเพิ่มมากขึ้น กรณีนี้การกระทำของจำเลยเป็นสาเหตุโดยตรงต่อความเสียหายของโจทก์ แต่ไม่มีลักษณะเป็นการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ กรณีนี้ไม่ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาฯ เป็นคดีละเมิดทั่วไปที่จำเลยก่อให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ
หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญแก่ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศนิวซีแลนด์มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ประเทศออสเตรเลียมีการจัดตั้งศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อมในมลรัฐ New South Wales, มีการจัดตั้งศาลผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ในมลรัฐ Queensland, มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมทรัพยากรและการพัฒนาในบางมลรัฐ สำหรับมลรัฐ South Australia มีการจัดตั้งองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดคดีสิ่งแวดล้อม ในประเทศสวีเดนมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ประเทศเดนมาร์กมีคณะกรรมการอุทธรณ์ทางสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการอุทธรณ์เกี่ยวกับการคุ้มครองธรรมชาติ สหภาพยุโรปได้มีการจัดตั้ง European Environment Tribunal เป็นต้น
ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมไว้เป็นการเฉพาะ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาจึงกระทำที่ศาลตามปกติเหมือนคดีทั่วไป (ยกเว้นในบางมลรัฐ ได้แก่ มลรัฐเวอร์มอนท์ที่มีการออกกฎหมายจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม)
ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยังไม่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม แต่ศาลญี่ปุ่นได้ตัดสินคดีสิ่งแวดล้อมให้เป็นคุณแก่ชาวบ้าน เห็นได้จากคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
เช่น คดีโรค “มินามาตะ ที่จังหวัดคุมาโมโตะ ศาลชั้นต้นใช้เวลาในการไต่สวนและพิจารณาเกือบ 4 ปี ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้ป่วยที่เสียชีวิตและผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ศาลวินิจฉัยว่าบริษัทจำเลยได้ละเลยหน้าที่ในการระวังและคาดการณ์อันตรายจากน้ำเสียของโรงงานที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์ ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีโรคมินามาตะเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อรู้ว่าเกิดโรคขึ้นแล้วก็ควรรีบดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมโดยทันที แต่ทางบริษัทจำเลยกลับปล่อยให้ปัญหาลุกลามออกไป
การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นของศาลยุติธรรมเพื่อให้มีแผนกคดีชำนัญพิเศษครบทั้งสามชั้นศาลประกอบด้วยผู้พิพากษาและบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการแสดงศักยภาพและสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของกระบวนการยุติธรรมไทยในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อลดอุปสรรคในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อำนวยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรมแก่ประชาชน
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
สภาพอากาศมาบตาพุดยังไม่ดีขึ้น - รายงานของ มกราคม 2554 แล้ววันนี้ อยู่ตรงไหน
นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (วีโอซี) ในเขตพื้นที่มาบตาพุด ที่ตรวจวัดปริมาณวีโอซีในบรรยากาศ 7 แห่ง คือ สถานีอนามัยมาบตาพุด วัดมาบชะลูด โรงเรียนวัดหนองแฟบ สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด ชุมชนบ้านเพลง ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน และหมู่บ้านนพเกตุ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2549 - เม.ย.2553 โดยได้นำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยใน 1 ปี และเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน พบว่าสถานการณ์ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยังมีสารวีโอซีที่มีค่าความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี ได้แก่
สาร 1, 3- บิวทาไดอิน ตรวจพบเกินมาตรฐานบริเวณสถานีอนามัยมาบตาพุด และศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน 0.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จากค่ามาตรฐานรายปี 0.33 มคก./ลบ.ม. สาร 1,2-ไดคลอโรอีทเธน ตรวจพบเกินมาตรฐานบริเวณสถานีอนามัยมาบตาพุด วัดมาบชะลูด สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด ชุมชนบ้านเพลง และศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน ส่วนสารเบนซีน ตรวจพบเกินมาตรฐานบริเวณสถานีอนามัยมาบตาพุด สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด ชุมชนบ้านเพลง ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน และหมู่บ้านนพเกตุ โดยเฉพาะที่สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด สูงสุด 4.0 มคก./ลบ.ม. จากค่ามาตรฐานรายปี 1.7 มคก./ลบ.ม. แต่ทั้งหมดก็ยังถือว่ามีค่าความเข้มข้นลดลงจากช่วงปีที่ผ่านมา
แม้ว่าทั้ง 3 สาร จะยังเกินมาตรฐาน แต่เชื่อว่าถ้าเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน มีการลงทุนและเทคโนโลยีเพื่อควบคุมไอระเหยออกมาได้ทั้งหมด ภายในปี 2556 ก็จะทำให้ปัญหาวีโอซีลดลงได้
สำหรับแผนลดมลพิษของเอกชนนั้น เบื้องต้นมีเอกชนเสนอแผนมาแล้วรวม 39 โครงการ จากเป้าหมายทั้งหมด 138 โรงงาน ในนิคมมาบตาพุด และบ้านฉาง ทั้งหมด รวมวงเงิน 1.3 พันล้านบาท ที่เอกชนต้องลงทุนเอง ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการลดมลพิษการปล่อยสารวีโอซี ตามจุดควบคุมและการวางระบบทางด้านเทคโนโลยี.- สำนักข่าวไทย
จำนวนการดูหน้าเว็บรวม
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Fire Explosion in Thai Oil Safety Lesson Learned: Fire Explosion in Thai Oil Location of Incident: Thailand ไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันไทยออยส์ ปี 1...
-
องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกโดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์และรักษาสิ่งแวดล้อ...
-
ความมักง่ายบกพร่องอย่างกว้างขวางและทำเป็นระบบ เลิกใส่ใจถามไปเลย เรื่อง CSR กับภาคอุตสาหกรรมมักง่าย แค่เพียงสำนึกง่ายๆ โรงงานเสี่ยงมากมาย ที่...