ศาลปกครอง เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อม 4 ส.ค. 54
ศาลปกครอง เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น 9 ศาลทั่วประเทศ เพื่อรับฟ้อง และพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม
ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยถึงการเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ว่า การเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองครั้งนี้ เป็นการเปิดทำการแผนกคดีฯ พร้อมกันทุกศาลทั่วประเทศ 9 แห่ง ได้แก่ ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองระยอง ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองอุดรธานี และศาลปกครองอุบลราชธานีรับฟ้องคดีปกครองพร้อมกันในวันนี้
ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติหลักการสำคัญทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในทางสิ่งแวดล้อมและอำนาจหน้าที่ของรัฐไว้ในมาตรา 66 มาตรา 64 และมาตรา 85 โดยกำหนดให้ชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
ตลอดจนการกำหนดรับรองสิทธิของบุคคลหรือชุมชนในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐไว้ด้วยว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ได้บัญญัติรับรองสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 67
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 3/2552 เรื่องการรับรองสิทธิและเสรีภาพ และอำนาจศาลในคดีพิพาทตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน และวินิจฉัยเรื่องสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ว่า ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด
หากปรากฏว่าการดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้
จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิและเสรีภาพของชุมชนและบุคคล และอำนาจหน้าที่ของรัฐ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง โดยผ่านกลไกสำคัญของรัฐ คือ หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ และมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ด้วย และผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งนอกจากจะมีผลผูกพันคู่กรณีแล้ว ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ และส่งผลกระทบที่เชื่อมโยงไปถึงการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม รวมทั้งอาจเกี่ยวข้องโดยทางอ้อมต่อการวางนโยบายทางสิ่งแวดล้อมในบางเรื่องของรัฐอีกด้วย
ประธานศาลปกครอง ระบุว่า รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2554 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2554 กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง มีอำนาจออกประกาศจัดตั้งแผนกคดีขึ้นในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น และโดยที่ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และสาธารณชนในวงกว้าง การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลปกครอง จึงเป็นไปเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นไปโดยรวดเร็ว ทันต่อการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และทันต่อการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายไม่เฉพาะแต่คู่กรณีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันด้วย อันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และยังประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ
จากเหตุผลข้างต้น จึงเห็นสมควรจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้นทุกศาล และในส่วนของศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นศาลที่วางหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นศาลที่ต้องพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมกรณีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นควรจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การฟ้องคดีต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองเร็วและดีอย่างไร ดร.หัสวุฒิ กล่าวว่า การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมทำให้ขั้นตอนการพิจารณาคดี ตั้งแต่การฟ้องคดี จนถึงการมีคำพิพากษาของศาลเป็นขั้นตอนที่แยกการพิจารณาออกมาโดยเฉพาะจากคดีปกครองประเภทอื่น จึงทำให้คดีเสร็จรวดเร็วและเหมาะสมกับคดีสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อส่วนรวม ซึ่งรอช้าไม่ได้
ขณะที่ตุลาการศาลปกครองที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงมั่นใจได้ในความถูกต้องและเป็นธรรมของคำพิพากษา
จำนวนการดูหน้าเว็บรวม
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Fire Explosion in Thai Oil Safety Lesson Learned: Fire Explosion in Thai Oil Location of Incident: Thailand ไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันไทยออยส์ ปี 1...
-
องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกโดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์และรักษาสิ่งแวดล้อ...
-
ความมักง่ายบกพร่องอย่างกว้างขวางและทำเป็นระบบ เลิกใส่ใจถามไปเลย เรื่อง CSR กับภาคอุตสาหกรรมมักง่าย แค่เพียงสำนึกง่ายๆ โรงงานเสี่ยงมากมาย ที่...
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น