วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แผ่นดินไหวรุนแรงถล่มชิลี ซ้ำบริเวณเดียวกับหายนะเกือบ 1 ปีที่แล้ว

ฉีกตำราการสะสมพลังงานของรอยแยก - นักวิชาไทย วิศวกรไทย ต้องลืมตาตื่น จากตำราเก่า หนังสือเก่า ที่ชอบอ้างว่า รอยแยกจำเป็นต้องสะสมพลังงาน จึงจะเคลื่อนตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหว แล้วนำมาคิดผิด แนะนำผิด เช่น การเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องตอกเสาเข็ม วันนี้ ที่โรงงานในมาบตาพุดไม่ตอกเสาเข็มจำนวนมาก เสี่ยงมาก จากคำแนะนำที่ผิดๆ หรือเป็นความมักง่ายไม่รอบคอบของภาคอุตสาหกรรมเอง ที่เร่งร้อนจะเอาแต่ผลกำไร !!!

เอเอฟพี - เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงบริเวณชายฝั่งทะเลติดมหาสมุทรแปซิฟิกของชิลี สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน เกือบ 1 ปีหลังจากหายนะร้ายแรง ทั้งแผ่นดินไหว และสึนามิถล่มพื้นที่เดียวกันนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต และสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก

แผ่นดินไหวรุนแรง ซึ่งกรมสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ หรือยูเอสจีเอส วัดแรงสั่นสะเทือนเบื้องต้นได้ 7.0 ก่อนเปลี่ยนเป็น 6.8 ในภายหลัง เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากเมืองกอนเซปซิยงราว 70 กิโลเมตร

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลา 20.05 น.ของวันศุกร์ (11) ตามเวลา GMT หรือราว 3.05 น.ตามเวลาของไทย ใกล้กับตอนกลางของชิลี ซึ่งได้รับความเสียหายร้ายแรงจากแผ่นดินไหวระดับ 8.8 และสึนามิ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี 2010

ไม่กี่ชั่วหลังจากแผ่นดินไหวดังกล่าวยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้ง และครั้งที่รุนแรงที่สุด 2 ครั้งวัดแรงสั่นสะเทือนได้ระดับ 5.9 และ 6.1 ในพื้นที่เดียวกันด้วย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นในเวลา 23.39 น. ตามเวลา GMT หรือ 6.39 น. ตามเวลาของไทย มีศูนย์กลางห่างจากเมืองกอนเซปซิยงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 55 กิโลเมตร โดยยูเอสจีเอสระบุว่ารุนแรงระดับ 6.3 และปรับตัวเลขเป็น 5.9 ในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และความเสียหายอื่นๆ ในเบื้องต้น เมื่อประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งแรกได้เป็นบริเวณกว้าง ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพออกจากพื้นที่ริมชายฝั่งตามประกาศเตือนภัย

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก โรดริโก อูบิลลา เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยของชิลีเผยว่า ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรืออาคารที่ได้รับความเสียหาย พร้อมกับยกย่องประชาชน ที่รับมือกับเหตุการณ์ครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน และสร้างความเสียหายสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งยังนำไปสู่การตรวจสอบการเตือนภัยสึนามิที่ขาดความพร้อม และไม่ทันเวลา
วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หิมะละลาย กับน้ำท่วมใหญ่ ที่กำลังจะมาถึง

หิมะละลาย กับน้ำท่วมใหญ่

เหตุหิมะตกและครอบคลุม พื้นดิน ที่ถูกมองว่าครึ่งโลกขณะนี้ ในอนาคตอันใกล้ การละลายกลายเป็นน้ำนั้น ก้อจะเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ ที่ต้องไหลลง ในแม่น้ำสายต่างๆ น้ำในแม่น้ำจะมากขึ้น และกรณีที่มีพายุฝนซ้ำ จะหนีไม่พ้น ที่น้ำจะท่วมซ้ำในพื้นที่ต่างๆ ปรากฎการณ์ ที่อ้างอิงข้อมูลทางวิชาการ เริ่มผิดเพี้ยน อันเป็นปัญหามาจาก ปรากฎการณ์โลกร้อน(ชั้นโอโซนถูกทำลาย) ซึ่งทำให้เกิดอากาศหนาวจัดและเย็นจัด

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจที่แตกต่างกัน ว่าโลกอาจเป็นน้ำแข็งหรือ น้ำอาจจะท่วมพื้นที่ต่ำ พื้นที่ชายฝั่งต่างๆ เพราะน้ำทะเลสูงขึ้น แต่กรณีที่หิมะตกรุนแรงครึ่งโลกขณะนี้ ยังไม่ได้ถูกประเมินว่า มวลน้ำจะมากมายเพียงใด

นักวิจัยเผย ปี 2014 โลกจะก้าวเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง “Little Ice Age”

หลังจากที่เกิดสัญญาณของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่งนั่น เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเชื่อว่า อีกไม่นานโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง หรือยุค “Little Ice Age”ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว มีการคาดการณ์ว่า หลังจากที่จุดดับบนดวงอาทิตย์มีจำนวนถึงขีดสุดในปี 2042 จะส่งผลให้ปี 2014 เริ่มเป็นยุคน้ำแข็ง และจะเย็นถึงขีดสุดในปี 2055-2060

ดร.ฮา บิบูลโล แอ๊บดัซซามาโทฟ หัวหน้าทีมวิจัยอวกาศแห่งหอดูดาวและอวกาศ เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก เคยกล่าวในการประชุมภาวะโลกร้อนนานาชาติ ที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่แท้จริงของภาวะโลกร้อนนั้นไม่ใช่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนโลก แต่เกิดจากรังสีจากดวงอาทิตย์

โดยมีการแสดงจุดดับของดวงอาทิตย์ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อโต้แย้งงานวิจัยอื่น ๆ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานสนับสนุนที่ว่า นักดาราศาสตร์ วอลเตอร์ มอนเดอร์ สรุปข้อมูลจุดดับของดวงอาทิตย์ตั้งแต่ปี 1645 – 1715 พบมีจำนวนเพิ่มขึ้น นั่นเป็นสาเหตุของอุณภูมิโลกที่ลดลง ในแวดวงวิทยาศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า“Little Ice Age”นั่นเอง

ดร.ฮา บิบูลโล ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า จุดดับ หมายถึง พื้นที่ส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์ขนาดแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 3,600 กิโลเมตรไปจนถึง 50,000 กิโลเมตร โดยมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณโดยรอบ หากมีจำนวนมากขึ้นแล้ว จะทำให้ห้รังสีจากดวงอาทิตย์มีปริมาณลดลง

4 ก.พ.54 รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ขณะนี้พื้นที่ของโลกเกินกว่าครึ่งกำลังถูกปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยโดยองค์กรทางด้านการวิจัยทะเลและอากาศของสหรัฐอเมริกา the National Oceanic And Atmospheric Association (NOAA) ด้วยหลักฐานที่เป็นรูปถ่ายทางดาวเทียม

ขณะที่ทางฝั่งของนักวิทยาศาสตร์ต่างกำลังถกเถียงกันอยู่ว่า เหตุใดหิมะจึงตกมามากผิดปกติขนาดนี้ โดยส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากภาวะโลกร้อน หรือโกลเบิล วอร์มมิ่้ง ที่โลกกำลังเผชิญอยู่

อย่างไรก็ตามในหลายเมืองใหญ่กำลังเผชิญกับวิกฤตนี้ เช่น ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงรัฐคะฉิ่นของประเทศพม่า ที่เพิ่งเกิดหิมะตกครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน



วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

‘ขยะดิจิตอล’ ต้นทุนของโลก

คุณมีอีเมลที่ยังไม่เปิดอ่านเป็นพันๆ หรือเปล่า?

นานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้จัดการหรือทำความสะอาดสารพัดไฟล์ในคอมพิวเตอร์?

คุณบอกทุกอย่างที่ทำ หรือโหลดรูปภาพวันละหลายสิบรูปลงบนเฟซบุ๊กทุกวันหรือเปล่า?

ความสะดวกสบายและความบันเทิงที่เทคโนโลยีหยิบยื่นให้เรา ทั้งคำบรรยายคุณูปการอันมากมายที่โซเชียล เน็ตเวิร์ก มีต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและโลก ดูเหมือนจะทำให้ผู้คนหลงลืมไปว่า โลกต้องแบกต้นทุนมากแค่ไหน ทุกครั้งที่เรากดปุ่มเอนเทอร์

ไม่นานมานี้ กรีนพีซ ได้รณรงค์ ‘The SoCoal Network’ ผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อคัดค้าน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ตัดสินใจเลือกถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานให้แก่ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ของเฟซบุ๊ก ทำให้มีการเปิดข้อมูลตัวเลขหลายตัวที่ทั้งน่าสนใจและตกใจ

จากบทความเรื่อง ‘เรา เขา เฟซบุ๊ก ถ่านหิน’ ของ ฐิตินันท์ ศรีสถิต ใน www.onopen.com บอกว่า กรีนพีซได้คาดการณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าของระบบทั้งหมดของเฟซบุ๊กในอีก 10 ข้างหน้าว่าจะสูงถึง 1,963 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งมากกว่าปริมาณการบริโภคไฟฟ้าในปัจจุบันถึง 3 เท่า และมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา และบราซิลรวมกัน หรือข้อมูลที่ว่าปัจจุบันมีการอัปโหลดภาพมากกว่า 220 ล้านภาพต่อสัปดาห์ ซึ่งเท่ากับค่าไฟเดือนละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28 ล้านบาท)

แต่ชีวิตยุคดิจิตอลผูกโยงกับเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ มากกว่าแค่เฟซบุ๊ก นั่นแปลว่าปริมาณการบริโภคพลังงานข้างบนนั่นอาจเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของมหกรรมสวาปามพลังงาน

อากาศรอบตัวเรา...มีแต่ข้อมูล

มันเป็นเรื่องไกลตัวเอาเรื่องที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเห็นความเกี่ยวข้องเรื่องพลังงานกับพฤติกรรมการใช้ เรามองไม่เห็นบรรดาข้อมูลที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ยากจะจับต้องได้ว่ามันมหาศาลแค่ไหนและสร้างต้นทุนพลังงานแก่โลกอย่างไร

ผลการศึกษาของ ไอดีซี (Internet Data Center) หรือองค์กรที่ให้บริการคุ้มครองเก็บรักษาข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์แก่ลูกค้า ในปี 2551 ระบุว่า ปริมาณข้อมูลดิจิตอลที่สร้างขึ้นในช่วงปี 2551 เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 16 ล้านกิกะไบต์

มันเยอะขนาดไหน ไอดีซีเปรียบเทียบออกมาให้เห็นภาพดังนี้-อุปกรณ์อ่านหนังสือออนไลน์แบบไร้สายที่โหลดข้อมูลจนเต็มกว่า 237,000 ล้านเครื่อง ธุรกรรมธนาคารออนไลน์กว่า 4.8 พันล้านรายการ ข้อมูลฟีดจากทวิตเตอร์กว่า 3 พันล้านล้านรายการ ภาพถ่ายดิจิตอล 162 ล้านล้านภาพ ไอพ็อด ทัชที่โหลดข้อมูลจนเต็มกว่า 30,000 ล้านเครื่อง และแผ่นดีวีดีบลูเรย์ที่บันทึกข้อมูลจนเต็มกว่า 19,000 ล้านแผ่น และยังคาดว่าข้อมูลดิจิตอลจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 18 เดือน และภายในปี 2555 จะมีข้อมูลดิจิตอลมากกว่าปี 2551 ถึง 5 เท่า

และจากงานศึกษาของ Lawrence Berkeley National Laboratory ของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อปี 2550 พบว่า ในปี 2549 บรรดาศูนย์ข้อมูลและเซิร์ฟเวอร์ต่างใช้พลังงานถึง 61 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เท่ากับ 1.5 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นต้นทุนที่บริษัทต่างๆ ต้องจ่ายไปถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขยะดิจิตอลที่ยังไม่ลงถัง

ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงปริมาณพลังงานที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ให้ทำงาน เฟซบุ๊กเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัว

“เราเรียกร้องให้เฟซบุ๊กมีนโยบายที่ชัดเจนว่า การขยายตัวของการใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มความสามารถของเซิร์ฟเวอร์ แหล่งพลังงานที่เพิ่มขึ้นควรจะดึงมาจากพลังงานสะอาด เพราะว่ามันมีศักยภาพที่เป็นไปได้ ซึ่งสามารถทำเป็นตัวอย่างให้ได้ อย่างในอเมริกามีเซิร์ฟเวอร์อยู่เยอะ และมีจุดที่สามารถเชื่อมกับพลังงานหมุนเวียนได้โดยตรง” ธารา บัวคำศรี ผู้แทนกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย กล่าว

ธาราบอกว่า กรีนพีซไม่ได้เรียกร้องให้เลิกใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก แต่ต้องการให้ผู้ใช้สร้างแรงกดดันให้มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ตระหนักถึงผลเสียของการใช้พลังงานจากถ่านหินที่สร้างแรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อม

อัศวิน ศรีวงศ์ แมเนจิ้ง ไดเร็กเตอร์ ของบริษัท Hitcha ที่ทำงานด้านเอนเตอร์ไพร์ซอฟแวร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์กล่าวถึงสถานการณ์ความตื่นตัวของวงการไอทีที่มีต่อขยะดิจิตอล บอกว่า

“ในวงการไอทีมีการตื่นตัวเรื่องขยะดิจิตอลมาพักหนึ่งแล้ว เพราะในมุมของผู้ให้บริการมันก่อให้เกิดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางตรง อย่างค่าเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องซื้อเพิ่ม หรือจะเป็นทางอ้อมอย่างค่าบำรุงรักษาข้อมูลและอุปกรณ์ ตัวอย่างเช่นเมื่อก่อนเรามีเว็บ geocitie.com ซึ่งเป็นพื้นที่ฟรีที่ให้บริการโดยยาฮู แต่สุดท้ายมันก็ต้องปิดตัวลงเพราะจำนวนข้อมูลที่มากมายเกินไป และส่วนมากจะเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์แล้ว”

ประเด็นพลังงานไฟฟ้าที่ต้องเสียทุกครั้งที่เข้าถึงข้อมูล อัศวินบอกว่าในแง่ของผู้ให้บริการเองจะต้องเสียค่าดาต้า ทรานเฟอร์ (ค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนข้อมูล) ให้กับเจ้าของเครือข่ายอีกทางหนึ่ง ซึ่งมันคือค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่มากกว่าค่าไฟและค่าดูแลรักษาข้อมูล ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงให้ความสำคัญต่อการจัดการข้อมูลที่เป็นขยะอยู่แล้ว

“เอาเข้าจริง พวกข้อมูลบนเน็ตเวิร์กมันจะมีช่วงเวลาของมันในระดับหนึ่ง เจ้าของพื้นที่ที่ให้บริการจะดูความแอ็กทีฟของข้อมูลเหล่านั้นว่ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ เขาก็จำเป็นต้องกำจัดออกไป เพราะมันมีค่าใช้จ่ายในการดูแล แต่อย่างเฟซบุ๊ก เท่าที่รู้ ยังไม่มีการลบข้อมูลใครทิ้งนะ และแน่นอนว่าวันหนึ่งมันจะมีข้อมูลที่ไม่ได้ใช้บันทึกอยู่อย่างมหาศาล”

ส่วนในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ทั้งอัศวินและธาราพูดคล้ายกันว่า ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการต่างๆ ถูกคิดค้นให้มีการประหยัดพลังงานและจัดเรียงข้อมูลให้มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว จึงไม่สร้างผลกระทบต่อการใช้พลังงานมากนัก

เริ่มที่ตัวเรา

ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้คนในยุคปัจจุบันว่า ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นแต่เรื่องการสื่อสารข้อมูล แต่ยังมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวพันด้วย

“ตอนนี้อินเทอร์เน็ตมันเป็นช่องทางเพื่อระบายอารมณ์ มากกว่าการหาเหตุผล ซึ่งทางที่ดีคือมันช่วยลดความกดดันในสังคม”

แน่นอนว่า ทุกวันนี้การเขียนลักษณะนี้ถือว่ามีเยอะมากและขาดการกลั่นกรองจากระบบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากมีการกรองหรือการจำกัดจริงก็จะขัดต่อหลักเสรีภาพซึ่งมีอยู่ในโลกออนไลน์

แต่หากจะมองในส่วนของตัวผู้ใช้อย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะต้องไปดูในเชิงระบบ ข้อมูลหลายๆ อย่างก็ถูกฝังไว้ในโลกอินเทอร์เน็ตเช่นกัน ซึ่งบางอย่างก็ล้าสมัยและไม่เป็นจริงแล้วในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใครลบหรือขจัดลงไปเสียที

ปฐวี จอกสถิต เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไอทีอย่างเต็มที่ เพราะเขาเป็นทั้งช่างภาพและนักดนตรี ที่มีการอัปโหลดรูปภาพเข้าไปเก็บไว้บนไซเบอร์สเปซอย่างมหาศาลและอัปโหลดคลิปการเล่นดนตรีของตนไปไว้บนเว็บไซต์ยูทูบทุกวัน

“เรื่องการใช้พลังงานและพื้นที่จัดเก็บ ก็เคยนึกถึงเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ เทคโนโลยีการจัดเก็บพัฒนาขึ้น ทำให้ฟอร์แมตของการจัดเก็บมีขนาดเล็กลงไปมาก ไม่สิ้นเปลืองพื้นที่มากเหมือนก่อน และเชื่อว่าต่อไปมันก็จะเล็กกว่านี้แน่นอน แต่ถ้าอีกสิบปีหรือยี่สิบปีถัดไป ผมก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ผมส่งขึ้นไปในระบบนั้น จะอยู่ดีหรือไม่ ดังนั้น ทุกวันนี้ผมก็เก็บข้อมูลส่วนหนึ่งไว้ที่ตัวเอง ส่วนพวกภาพถ่าย ผมก็เลือกที่จะปรินท์ออกมาเป็นรูปเก็บไว้ เพราะมันดูมีคุณค่ามากกว่าที่เราเก็บมันไว้บนไซเบอร์สเปซ”

ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการลดภาระของเซิร์ฟเวอร์ เช่นเดียวกับ ชาคริยา ศรีเมือง กราฟิกดีไซเนอร์ ที่มักเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมากกว่าที่เซิร์ฟเวอร์บนเวบไซต์ต่างๆ เพราะไม่ค่อยนำข้อมูลอะไรอัปลงไปในโลกออนไลน์เท่าไหร่นัก และในเครื่องคอมพ์ก็จะเก็บไว้แต่ข้อมูลสำคัญๆ เท่านั้น

ส่วนวิธีการไรต์ลงแผ่นดีวีดีหรือซีดี เพื่อแบ่งเบาภาระเครื่องคอมพ์ ชาคริยาก็บอกว่าทำอยู่เป็นประจำและเมื่อไรต์ข้อมูลเก่าออกข้อมูลใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ จนบางครั้งก็เหนื่อยที่ต้องเอาออกไป แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องหาวิธีเอาข้อมูลออกจากเครื่องอยู่ดี

ไม่เพียงแต่คอมพิวเตอร์ส่วนตัวเท่านั้น หากในอีเมลที่เธอใช้หากมีข้อมูลที่มากเกินไปจะต้องเคลียร์เก็บไว้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

“ไม่ได้คิดถึงว่าจะสิ้นเปลืองพลังงานอะไร แต่หากมีข้อมูลในเครื่องเยอะก็จะเอาออกไปบ้าง เพราะคิดว่าทำให้เครื่องช้า”

ยาก...ที่จะให้มนุษย์ยุคดิจิตอลหยุดใช้อินเทอร์เน็ต เพราะมันก็ช่วยลดต้นทุนของโลกด้านอื่นๆ ได้มากอยู่ ซึ่งบรรดาภาคเอกชนก็พยายามปรับปรุงเทคโนโลยีประหยัดพลังงานในส่วนนี้อยู่อย่างขมีขมัน

และในฐานะผู้ใช้ก็ควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ให้มีเหตุผลขึ้นและไม่ใช้พื้นที่บนอากาศอย่างฟุ่มเฟือยเกินไป ใครมีอีเมลค้างอยู่ในเครื่องเป็นพันเป็นหมื่น ถ้าไม่จำเป็น ทางที่ดีก็ลบขยะดิจิตอลพวกนี้ออกบ้าง ไฟล์ ข้อมูล รูปภาพต่างๆ ที่ฝากไว้ที่นั่นที่นี่ก็ควรจัดการและจัดเก็บให้เป็นระบบไว้กับตัวจะดีกว่า

เพราะมันจะเป็นตลกร้ายเอาเรื่อง ถ้าเราใช้อินเทอร์เน็ตรณรงค์เพื่อโลก แต่คมอีกด้านของมันกลับสร้างต้นทุนให้โลกต้องแบกรับ
วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไทยส่อแววซ้ำเติมโลกร้อน จ่อคิวเป็นเมืองอุตสาหกรรมทุกภาค

ไทยส่อแววซ้ำเติมโลกร้อน จ่อคิวเป็นเมืองอุตสาหกรรมทุกภาค

โดย อาร์เอสยูนิวส

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกต้องจับตามอง เพราะเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตคนหมู่มาก ทั้งๆ ที่มนุษย์ทราบดีว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยต่อลมหายใจของเราให้ยาวขึ้น แต่ก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มจ้องจะทำลาย เพียงเพราะเม็ดเงินที่เป็นความสุขเฉพาะหน้า โดยไม่คิดถึงอนาคตของมวลมนุษยชาติ

ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในปี 2554 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนี้มีมากมาย หากต้นปี 2554 ยังเกิดปรากฏการณ์โลกร้อนจากปรากฏการณ์ลานีญา ปัญหานี้จะนำไปสู่วิกฤติของเรื่องอาหาร และเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเรายังไม่ทราบชัดเจนว่าประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่ ทั้งนี้ในปี 2553 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หลังจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคใต้ ทำให้ประเทศประสบปัญหาการขาดแคลนมะพร้าว ซึ่งเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นตัวอย่างของภัยธรรมชาติที่นำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนควรเตรียมรับมือ

ดร.อาภา กล่าวต่อไปว่า ในปี 2554 พื้นที่ภาคอีสานจะมีโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น จ.อุดรธานี มีการผลักดันเรื่องโครงการทำเหมืองแร่โปแตชที่ใช้ทำปุ๋ย ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถยื้อมาได้ประมาณ 5-6 ปี แต่ขณะนี้บริษัทได้รับสัมปทานและเข้าไปปักหมุดแล้ว หากชาวบ้านคัดค้านไม่อยู่ โครงการนี้จะส่งผลกระทบในเรื่องของดินเค็ม เพราะภาคอีสานจะมีเกลือสินเธาว์อยู่ใต้ดิน การขุดแร่โปแตชจะทำให้เกลือจำนวนมหาศาลถูกขุดขึ้นมา มีผลกระทบต่อการทำการเกษตรในวงกว้าง ทั้งพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา รวมไปถึง จ.สกลนคร ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ภาคอีสานยังมีปัญหาเรื่องเหมืองทองคำใน จ.เลย และพิจิตร เพราะสินแร่ทองคำจะมีโลหะหนักตัวอื่นๆ เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนอยู่ และที่สำคัญกระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำจะมีการใช้สารไซยาไนต์ เพราะฉะนั้นน้ำทิ้งที่ออกมาจะมีสารไซยาไนต์ออกมาเป็นองค์ประกอบอยู่ถือเป็นสารที่อันตรายมาก หากมีปริมาณสูงอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งกว่าที่เราจะได้ทองคำ 1 บาท เราต้องทลายภูเขาทั้งลูกเพื่อที่จะเอาสินแร่ไปป้อนโรงงาน ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อมมาก นอกจากนี้ภาคอีสานยังมีปัญหาเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาซึ่งจะทำให้มีการสร้างเขื่อนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการกั้นแม่น้ำ อันเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของลำน้ำอย่างมาก

หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในส่วนของภาคเหนือขณะนี้ทางรัฐบาลได้รื้อฟื้นการทำเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามผลักดันทั้งๆ ที่ชาวบ้านยังมีการคัดค้าน รวมทั้งมีการพยายามทำโครงการร่วมกับต่างประเทศหลายโครงการ ซึ่งจะนำไปสู่การขังน้ำในเขตแม่น้ำโขง โครงการดังกล่าวต่างทำเพื่อหาน้ำมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเหล็ก รวมทั้งธุรกิจการขนส่ง ทั้งนี้ในส่วนของภาคเหนือ ยังมีการขยายตัวของการทำเหมืองแร่ เหมืองถ่านหิน เหมืองสังกะสี ซึ่งยังคงมีสารปนเปื้อนออกมาส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน

“ในส่วนของภาคกลาง บริเวณจังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก ยังคงมีเหมืองแร่ทองคำอยู่ ที่จังหวัดพิจิตรได้รับสัมปทานมา 5-6ปีแล้ว ที่จังหวัดพิษณุโลกกำลังอยู่ในช่วงการขอสัมปทานเปิดเหมืองใหม่ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเดียวกัน สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออก ยังคงเป็นเรื่องของการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด โดยเฉพาะเรื่องของปิโตรเคมี ในขณะเดียวกัน จ.ระยอง ก็มีการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่วนภาคตะวันตก ตอนนี้บริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้เซ็นสัญญาสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นชุดอุตสาหกรรมใหญ่เหมือนเช่นที่มาบตาพุด คือ นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้ว จะมีโรงงานไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ยังมีการต่อเชื่อมเส้นทางการขนส่งสินค้าจาก จ. กาญจนบุรี ถึง แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเป็นการเชื่อมต่อระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย”

ดร.อาภา กล่าวถึงปัญหานิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้ว่า ขณะนี้ จ.นครศรีธรรมราช ถูกผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดย จ.สตูล และสงขลา จะเป็นบริเวณสะพานเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันให้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อขนส่งน้ำมัน ในอนาคตมีแนวโน้มว่าบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลมีแผนการขยายโครงการปิโตรเคมีในเขตพื้นที่ภาคใต้ จึงมีแนวโน้มว่าจะมีการสร้างพลังงานจากแหล่งน้ำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใน 5–10 ปีข้างหน้า ขณะนี้ชาวบ้านใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กำลังต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปตามแผนการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต หรืออาจจะเป็นเรื่องของการซื้อขายพลังงานภายในภูมิภาคนี้

“การสร้างนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในชาติ แน่นอนว่าชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นอาจจะต้องโดนขับไล่ออกจากพื้นที่ทำมาหากินดั้งเดิม แต่ผลกระทบที่จะมีมากกว่านั้น คือ นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้น ดังนั้นคนกรุงเทพฯ อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว ทั้งนี้รัฐบาลควรมีความชัดเจนในทิศทางการพัฒนาประเทศ เพราะดูเหมือนว่าจะมุ่งเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่กำหนดทิศทางให้ตอบสนองผลกำไรของนายทุน ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลเห็นแก่ชาวบ้านจริงๆ อยากทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข คงต้องหันกลับมาฟังเสียงของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมการกำหนดทิศทางในแผนการพัฒนามากขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลควรกลับมามองในเรื่องฐานเกษตรกรรมของเราให้ยั่งยืน เพราะถือเป็นความมั่นคงด้านอาหารของโลก” หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

วันที่ 01/02/2554

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.