วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เผยสถิติปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งสูงทุบสถิติ


ที่ประชุมว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศโลก ถกเถียงเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยพบว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังพุ่งสูงทำลายสถิติ...

การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศโลกกำหนด 2 สัปดาห์ ที่กรุงบอนน์ เยอรมนี เริ่มขึ้นเมื่อ 6 มิ.ย. โดยมีผู้แทนจาก 180 ประเทศเข้าร่วม เพื่อถกเถียงเรื่องข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อน ปูทางสู่การประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้ ในปลายปีนี้ แต่มีข่าวร้ายสำหรับที่ประชุม เมื่อรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ระบุว่า แม้จะมีความพยายามส่งเสริมเพิ่มพูน การใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกตลอด 20 ปีหลัง แต่อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังพุ่งสูงจนทำลายสถิติ

รายงานระบุว่า อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานเมื่อปีที่แล้วพุ่งขึ้นถึง 30 กิกะตัน หรือ 5% ของปี 2551 และสถานการณ์จะเปลี่ยนไปน้อยมาก ในเมื่อการลงทุนในภาคพลังงานยังเน้นไปที่ถ่านหินและระบบสาธารณูปโภคที่ใช้น้ำมัน ประเด็นอื่นๆ ที่จะสร้างความวิตกกังวลในที่ประชุมก็คือ วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 11 มี.ค. ทำให้ญี่ปุ่นและหลายชาติทั่วโลกลดละเลิกโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะเยอรมนีล้มเลิกโรงงานทั้งหมด17แห่ง ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พลังงานฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งขึ้นด้วย

คณะผู้เชี่ยวชาญของศูนย์เฝ้าระวังผู้ไร้ที่อยู่อาศัยภายในประเทศ หรือ ไอดีซีเอ็ม ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยว่าในปี 2553 ประชากรโลกกว่า 42 ล้านคน กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากภัยธรรมชาติไม่ว่าน้ำท่วมหรือพายุ ซึ่งถือว่ามากกว่าปี 2552 เกินเท่าตัว นอกจากนี้ จำนวนภัยธรรมชาติในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังเพิ่มจากประมาณ 200 ครั้ง เป็น 400 ครั้งต่อปี และภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดมีผู้ไร้ที่อยู่เป็นจำนวนมากในปีที่แล้วคือเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังคลาเทศและปากีสถาน

ไทยรัฐออนไลน์

* โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

* 7 มิถุนายน 2554, 04:43 น.

อินโดฯ รีด ปตท.สผ. 3.5หมื่นล้าน ชดใช้น้ำมั่นรั่ว – ไทยรัฐออนไลน์ 27 พ.ค.2554

ภาพไฟไหม้ระเบิดชัดเจน ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปตท. แจงต่อตลาดหลักทรัพย์และสื่อมวลชนไทยว่า ไม่มีการระเบิด แต่ที่เห็นมันแค่ไฟไหม้ที่ดับไม่ได้ในทันที หรืออย่างไร ความเสียหายของ ปตท. คนไทยมีส่วนในความเสียหาย แต่กำไร ของ ปตท. คนไทยกับไม่มีส่วน ทั้งที่ใช้น้ำมันแพงกว่ามาเลย์ เกือบ 2 เท่า และปริมาณที่ขุดที่สูบกันขึ้นมาขาย ทรัพยากรไทย ที่ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น ฯ

อินโดนีเซียเล็งเรียกเงิน ราว 35,200 ล้านบาท ชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม เหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันในเครือปตท.สผ.ของไทย เกิดไฟไหม้และระเบิด นอกชายฝั่งออสเตรเลียปีที่แล้ว จนน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลติมอร์ถึงน่านน้ำอินโด

นายเฟรดดี้ นัมเบอรี รมว.คมนาคมของอินโดนีเซีย เผยต่อสำนักข่าวออนไลน์ ดาวน์ โจนส์ นิวส์ไวร์เมื่อ 26 ส.ค. ว่า อินโดนีเซียจะเรียกค่าชดใช้ถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 35,200 ล้านบาท) เป็นค่าชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม กรณีที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน มอนทาราของบริษัท พีทีที ออสเตรเลเซียในเครือบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน (ปตท.สผ.) หรือ พีทีทีอีพีของไทย เกิดไฟไหม้ และระเบิดที่นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือออสเตรเลียปีที่แล้ว ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลติมอร์ถึงน่านน้ำอินโดฯ

นายนัมเบอรี นำคณะผู้แทนรัฐบาลอินโดฯ ไปเจรจากับพีทีที ออสเตรเลเซีย ที่เมืองเพิร์ธใน 26 ส.ค. โดยเผยว่าจะยื่นขอค่าชดใช้ขณะเจรจา ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอ ข้อเรียกร้องมีข้อมูลอย่างละเอียดสนับสนุน แม้มีข้อสงสัยว่าความเสียหายด้านระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเล และการประมงที่อินโดฯ กล่าวอ้างนั้นสามารถพิสูจน์ความจริงได้หรือไม่

ขณะที่นายอานนท์ ศิริแสงทักษิณ ประธานบริหารปตท.สผ. เผยว่ายังไม่ได้รับข้อเรียกร้องขอค่าเสียหายจากอินโดฯ ตอนนี้จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็น แต่เราต้องตั้งองค์กรร่วมเพื่อพิสูจน์ความจริงของหลักฐานว่า มีผลกระทบจากน้ำมันรั่วจริงหรือไม่ และพร้อมสนับสนุนรัฐบาลอินโดฯ

การรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะมอนทาราในช่วง 21ส.ค.-3ก.ย. 2552 นับเป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบนอกชายฝั่ง ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย แม้จะน้อยกว่าเหตุน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะของบริษัท บีพีของอังกฤษนอกชายฝั่งเม็กซิโกในปีนี้ แต่กินเวลานานหลายเดือน ขณะที่ทางบริษัทพยายามอุดรูน้ำมันรั่ว โดยใช้วิธีขุดบ่อควบคุมความดันจนสำเร็จในที่สุดเช่นเดียวกัน

น้ำมันรั่ว มากมาย ที่ตอนนี้ คงมีหลักฐานแค่ภาพถ่าย วีดีโอ และรายงานความเสียหายที่รัฐบาลออสเตรเลียทำขึ้น จำนวนมาก

องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล” (WWF) เผยว่า จากหลักฐานที่ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการสอบสวนชุดหนึ่งระบุว่า น้ำมันดิบที่รั่วจากแท่นมอนทาราขยายวงกว้างเกือบ 90,000 ตร.กม. และลามเข้าสู่น่านน้ำอินโดฯด้วย ส่วนมูลนิธิรักษ์ติมอร์ตะวันตก ซึ่งคอยสนับสนุนชาวประมงที่ยากจนทางภาคตะวันออกอินโดฯ ประเมินว่าน้ำมันที่รั่วไหลส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงราว 18,000 คน ขณะที่ธุรกิจต่างๆ อาทิ ฟาร์มสาหร่ายทะเลและหอยมุกก็ได้รับผลกระทบด้วย

อนึ่ง หลังเหตุน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีน้ำมันรั่วลงทะเลราว 4.9 ล้านบาร์เรล บริษัทบีพีได้ตั้งกองทุนชดใช้ความเสียหายแล้วถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 640,000 ล้านบาท)

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก

5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก


วันสิ่งแวดล้อมโลก

วันสิ่งแวดล้อมโลก


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีนั้น เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งเป็นวันที่เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสภาพแวดล้อมของเราที่ย่ำแย่ลงทุกวัน สังเกตได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งหิมะขั้วโลกเหนือละลาย น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรืออากาศร้อนขึ้น ซึ่งผลเหล่านี้ล้วนมาจากการมนุษย์ที่เป็นคนทำลายธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อมดีๆ นั่นเอง ทำให้หน่วยงานของโลกจัดตั้งวันสิ่งแวดล้อมโลกขึ้น


สำหรับจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้นจัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮลม์ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า"การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์" หรือ "UN Conference on the Human Environment" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ


ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือ จากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก

วันสิ่งแวดล้อมโลก

วันสิ่งแวดล้อมโลก


ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่ติดตาม และประเมินผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดี และเพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลจึงได้กำหนดวิธีการไว้ดังนี้


สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษากับประชาชนและนักศึกษาทั่วไป


ให้การสนับสนุนทางวิชาการ และเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี


เสริมสร้างให้สถาบันและคนในสถาบันตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันสิ่งแวดล้อมโลก


นอกจากนั้น ยังมีข้อตกลงจากการประชุมให้มาดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ซึ่งประเทศไทยก็ได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 และได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดำเนินงาน ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็น 3 หน่วยงาน คือ


1.กรมควบคุมมลพิษ


2 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม


3.สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

วันสิ่งแวดล้อมโลก


และในส่วนของสถาบันการศึกษาก็ได้มีการจัดสอนหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสื่อมวลชนก็ได้ส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งวันสิ่งแวดล้อมโลกในแต่ละปีก็จะมีหัวข้อที่ต่างกันออกไป


พ.ศ. 2528 เยาวชน ประชากร และสิ่งแวดล้อม (Youth, Population and Environment)


พ.ศ. 2529 ต้นไม้เพื่อสันติภาพ (A Tree for Peace)


พ.ศ. 2530 (Public Participation,Environment Protection and Sustainable Development)


พ.ศ. 2531 การมีส่วนร่วมของประชาชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (When people put the environment first,development will last)


พ.ศ. 2532 ภาวะโลกร้อน (Global Warming,Global Warming)


พ.ศ. 2533 เด็ก และสิ่งแวดล้อม (Children and the Environment (Our Children,Their Earth))


พ.ศ. 2534 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change : Need for Global Partnership)


พ.ศ. 2535 (Only One Earth : Care and Share)


พ.ศ. 2536 (Poverty and the Environment : Breaking the Vicious Circle)


พ.ศ. 2537 โลกใบเดียว ครอบครัวเดียวกัน (One Earth, One Family)


พ.ศ. 2538 ประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมโลก (We The Peoples,United for the Global Environment)


พ.ศ. 2539 รักโลก : ดูแลถิ่นฐานบ้านเรา (Our Earth, Our Habitat,Our Home)


พ.ศ. 2540 เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนบนผืนโลก (For Life one Earth)


พ.ศ. 2541 เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีวิตยั่งยืน (For Life on Earth "Save our Seas")


พ.ศ. 2542 รักโลก รักอนาคต รักษ์สิ่งแวดล้อม ("Our Earth,Our Future...Just Save It")


พ.ศ. 2543 ปี 2000 สหัสวรรษแห่งชีวิตสิ่งแวดล้อม : ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อโลก เพื่อเรา (2000 The Environment Millennium :Time to Act)


พ.ศ. 2544 เชื่อมโยงโลกกว้าง ร่วมสร้างสานสายใยชีวิต (CONNECT with the World Wide Web of Life)


พ.ศ. 2545 ให้โอกาสโลกฟื้น คืนความสดใสให้ชีวิต (Give Earth a Chance)


พ.ศ. 2546 รักษ์น้ำเพื่อสรรพชีวิต ก่อนวิกฤตจะมาเยือน (Water - Two Billion People are Dying for it!)


พ.ศ. 2547 ร่วมพิทักษ์ ร่วมรักษ์ทะเลไทย (Wanted! Sea and Oceans - Dead or Live?)


พ.ศ. 2548 เมืองเขียวสดใส ร่วมใจวางแผนเพื่อโลก (GREEN CITIES PLAN FOR THE PLANET!)


พ.ศ. 2549 เพิ่มความชุ่มชื้น คืนสู่ธรรมชาติ (DON T DESERT DRYLANDS!)


พ.ศ. 2550 ลดโลกร้อน ด้วยชีวิตพอเพียง (MELTING ICE-A HOT TOPIC)


พ.ศ. 2551 ลดวิกฤติโลกร้อน : เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับแนวคิด สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Co2 Kick the Habit ! Towards a Low Carbon Economy)

พ.ศ. 2552 คุณคือพลัง ช่วยหยุดยั้งภาวะโลกร้อน (Your Planet Needs You - Unite to Combat Climate Change)

พ.ศ. 2553 ความหลากหลายทางชีวภาพ กู้วิกฤติชีวิตโลก (Many Species One Planet One Future)

พ.ศ. 2554 ป่าไม้มีคุณ เกื้อหนุนสรรพชีวิต คิดถนอมรักษา (Forests:Nature at your Service
)


โลกร้อน เกิดภัยพิบัติมากมาย ดังนั้นถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราจะร่วมช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมกันแบบจริง ๆ จัง ๆ เพื่อเก็บมันเอาไว้ให้ลูกหลานของเราได้เห็น


จาก - http://hilight.kapook.com/view/24504

การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม - สราวุธ เบญจกุล


องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกโดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2554 ได้มีแนวคิดหลักในการประสานความร่วมมือจากนานาประเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์ ภายใต้คำขวัญที่ว่า "Forests: Nature at your Service" ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าป่าไม้ถือเป็นแหล่งรวมทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและสามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น การนำต้นไม้มาใช้เป็นเชื้อเพลิง แปรรูปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆทั้งเครื่องเรือน กระดาษ นอกจากนี้ภูมิปัญญาชาวบ้านยังสามารถนำส่วนประกอบจากต้นไม้มาใช้เป็นสมุนไพรและพัฒนาเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบันอีกมากมายหลายชนิด

ประโยชน์ของป่าไม้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงสิ่งที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ได้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ป่าไม้มีส่วนในการรักษาคุณภาพและควบคุมปริมาณทรัพยากรน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ต้นไม้ในป่าสามารถช่วยดูดซับและกักเก็บปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน นอกจากนี้การที่พื้นที่ของป่าไม้ลดลงย่อมมีผลกระทบต่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ สัตว์ป่าหายากบางชนิดต้องสูญพันธ์ไปเพราะขาดผืนป่าที่เป็นบ้าน และแหล่งอาหารที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

องค์การสหประชาชาติเองได้พยายามส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้โดยเสนอแนะแนวทางในการลดปริมาณคาร์บอนด้วยการลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดการทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา หรือที่เรียกว่า Reducing Emissions From Deforestation and Forest Degradation (REDD) in developing countries ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) โดยเสนอแนะวิธีการใช้กลไกตลาดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเข้าเป็นสมาชิกของ REDD และดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งนี้หากประเทศที่พัฒนาแล้วมีพันธกรณีตามสนธิสัญญา ที่จะต้องลดปริมาณคาร์บอนแต่ไม่สามารถทำได้ในระดับที่กำหนดไว้ ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่กำลังพัฒนากลุ่มนี้เพื่อลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นไปตามพันธกรณี ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะได้รับประโยชน์เป็นจำนวนเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

แม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของ REDD แต่ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์อยู่หลายฉบับด้วยกัน เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 85 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดูแลรักษาทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวนบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมถึงการดำเนินการส่งเสริม บำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งที่รัฐต้องดำเนินการในการดูแลรักษาทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

นอกจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ เช่นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายครอบคลุมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง บำรุงรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเร่งรัดฟื้นฟูสภาพป่าจากการถูกทำลายอันเป็นเหตุให้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติขาดความสมดุล เห็นได้จากการที่มาตรา 54 บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้ใด ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า...” หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 72 ตรี กำหนดให้บุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจต้องรับโทษหนักขึ้นในกรณีที่กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ นอกจากนี้ศาลยังมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิด ออกไปจากป่านั้นได้ด้วย

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยกำหนดให้พื้นที่บางส่วนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งรัฐมีหน้าที่สงวนค้มครองมิให้ถูกบุกรุกและทำลาย การกระทำโดยประการใดๆอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เช่นเข้าไปตัดไม้หรือเผาป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท เว้นแต่ในบางกรณีเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ประชาชนจึงจะสามารถเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนได้เป็นการชั่วคราวตามความจำเป็น เช่นการเข้าไปเก็บของป่า หรือการเข้าอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เช่น พันธ์ไม้และของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่าและภูเขา ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป การเข้าไปดำเนินกิจการใดๆเพื่อหาผลประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ต้องไม่มีลักษณะที่เป็นการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของอุทยานแห่งชาตินั้น บุคคลใดฝ่าฝืน เช่น เข้าไปเผาป่า หรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต้องเสื่อมสภาพไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 5472/2545 ที่ศาลฎีกาพิจารณาถึงความร้ายแรงและผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติประกอบการวินิจฉัยกรณีที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น โดยเห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานยึดได้ชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจำนวนถึง 30 กิโลกรัม เป็นของกลางซึ่งนับว่าเป็นของป่าหวงห้ามจำนวนมาก จำเลยเข้าไปเก็บหาและนำออกไปซึ่งชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจากเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการลักลอบเก็บหาของป่าหวงห้ามเพื่อนำเอาไปขายทำให้ป่าไม้ถูกทำลายและเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งผืนดินพังทลาย ลำน้ำตื้นเขินหรือเกิดอุทกภัย และเป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนับเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงจการที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยรวมสองกระทงจำคุก 9 เดือน โดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น


อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่หลายแห่ง และบางแห่งได้รับการยอมรับจากองค์กร UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ให้เป็นมรดกโลก ได้แก่เขตพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งพื้นที่ป่าเหล่านี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีพรรณไม้และสัตว์ป่าหายากหลายสายพันธ์ และสมควรที่จะได้รับความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์ จากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคประชาชน นอกเหนือจากกฎหมายที่ดีแล้ว การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและปวงชนรุ่นหลังที่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในการดำรงชีวิตอย่างปกติในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม


ศาลสิ่งแวดล้อม (Green Bench) - สราวุธ เบญจกุล


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสังคมต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบซึ่งล้วนแต่มีลักษณะความรุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบ้าง เช่น เหตุการณ์ดินถล่มที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และ เหตุการณ์วิกฤติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งสร้างความตื่นตระหนกและก่อให้เกิดความกังวลในวงกว้าง เกือบทุกประเทศเฝ้าติดตามวิกฤตการณ์ครั้งนี้ว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างไร

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สังคมต้องให้ความสำคัญในการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ทัศนียภาพของเมือง การกำจัดขยะ หรือการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น  

ศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลฎีกาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้มีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถึง ภาค 9 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นสู่ชั้นศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ปัจจุบันมีนายประทีป เฉลิมภัทรกุล เป็นประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา

เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชนกรณีสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ศาลยุติธรรมโดยคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมจึงได้ออกประกาศให้จัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลชั้นต้น ได้แก่ศาลแพ่งเป็นแห่งแรกเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมจะเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป

สิ่งที่สังคมจะได้รับจากการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นที่ศาลชั้นต้น คือ ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมสามารถยื่นฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมได้ที่ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแผนกคดีชำนัญพิเศษ

คำแนะนำของประธานศาลฎีกากำหนดให้ “คดีสิ่งแวดล้อม” หมายถึง

1. คดีแพ่งที่การกระทำตามคำฟ้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของชุมชน หรือระบบนิเวศ

2. คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมของชุมชน

3. คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หรือเพื่อมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป

4. คดีแพ่งที่มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพอนามัย หรือสิทธิใด ๆ ของโจทก์ อันเกิดจากมลพิษที่จำเลยเป็นผู้ก่อหรือต้องรับผิด

คดีสิ่งแวดล้อมดังกล่าวข้างต้นอาจเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ
ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติ หรือประกาศของคณะปฏิวัติ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือมลพิษ

สิทธิที่จะฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่จะได้ประโยชน์จาก
ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ
และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เช่น จำเลยปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานลงสู่แม่น้ำสาธารณะโดยไม่บำบัดก่อน ทำให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสีย โจทก์นำน้ำนั้นไปใช้ในการเกษตรกรรมของตน ทำให้พืชไร่ของโจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทำให้แม่น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายของโจทก์ จึงเป็นคดีสิ่งแวดล้อม

กรณีตัวอย่างอีกหนึ่ง คือ จำเลยก่อสร้างอาคารทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงบ้านของโจทก์และไม่มีลมพัดเข้ามาบ้านเหมือนเดิม โจทก์เสียหายต้องใช้แอร์ พัดลม และเครื่องปั่นเสื้อผ้าให้แห้งเพิ่มมากขึ้น กรณีนี้การกระทำของจำเลยเป็นสาเหตุโดยตรงต่อความเสียหายของโจทก์ แต่ไม่มีลักษณะเป็นการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ กรณีนี้ไม่ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาฯ เป็นคดีละเมิดทั่วไปที่จำเลยก่อให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ

หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญแก่ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศนิวซีแลนด์มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ประเทศออสเตรเลียมีการจัดตั้งศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อมในมลรัฐ New South Wales, มีการจัดตั้งศาลผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ในมลรัฐ Queensland, มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมทรัพยากรและการพัฒนาในบางมลรัฐ สำหรับมลรัฐ South Australia มีการจัดตั้งองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดคดีสิ่งแวดล้อม ในประเทศสวีเดนมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ประเทศเดนมาร์กมีคณะกรรมการอุทธรณ์ทางสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการอุทธรณ์เกี่ยวกับการคุ้มครองธรรมชาติ สหภาพยุโรปได้มีการจัดตั้ง European Environment Tribunal เป็นต้น

ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมไว้เป็นการเฉพาะ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาจึงกระทำที่ศาลตามปกติเหมือนคดีทั่วไป (ยกเว้นในบางมลรัฐ ได้แก่ มลรัฐเวอร์มอนท์ที่มีการออกกฎหมายจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม)

ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยังไม่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม แต่ศาลญี่ปุ่นได้ตัดสินคดีสิ่งแวดล้อมให้เป็นคุณแก่ชาวบ้าน เห็นได้จากคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
เช่น คดีโรค “มินามาตะ ที่จังหวัดคุมาโมโตะ ศาลชั้นต้นใช้เวลาในการไต่สวนและพิจารณาเกือบ 4 ปี ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้ป่วยที่เสียชีวิตและผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ศาลวินิจฉัยว่าบริษัทจำเลยได้ละเลยหน้าที่ในการระวังและคาดการณ์อันตรายจากน้ำเสียของโรงงานที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์ ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีโรคมินามาตะเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อรู้ว่าเกิดโรคขึ้นแล้วก็ควรรีบดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมโดยทันที แต่ทางบริษัทจำเลยกลับปล่อยให้ปัญหาลุกลามออกไป

การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นของศาลยุติธรรมเพื่อให้มีแผนกคดีชำนัญพิเศษครบทั้งสามชั้นศาลประกอบด้วยผู้พิพากษาและบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการแสดงศักยภาพและสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของกระบวนการยุติธรรมไทยในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อลดอุปสรรคในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อำนวยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรมแก่ประชาชน

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.