วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อุบัติเหตุ - ความมักง่าย หรือ แก้ปัญหาไม่ได้ ยามมีเหตุ ของ ภาคทุนอุตสาหกรรม แบบ ปตท.

ปตท. รู้มากันตั้งนาน ยังปล่อยให้ไฟไหม้ระเบิด
รายงานการสอบสวนของรัฐบาลออสเตรเลียชี้ชัด “PTTEP Australasia” (พีทีทีอีพี )บริษัทลูกของ ปตท.สผ.ที่ได้รับสัมปทานให้ทำการขุดเจาะแหล่งมอนทารา ดำเนินงานด้วย “ความบกพร่องอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบ” จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงเสนอทบทวนถอนใบอนุญาต ด้าน บิ๊ก ปตท.สผ.มั่นใจออสเตรเลียให้พีทีทีอีพี เอเอพัฒนาแหล่งมอนทาราต่อไป รอลุ้นผลสรุปจากคณะทำงานอิสระรายงานตรงรัฐมนตรีออสซี่เพื่อชี้ขาด


รายงานการสอบสวนของรัฐบาลออสเตรเลียชี้ชัดว่า บริษัทลูกของ ปตท.สผ.ที่ได้รับสัมปทานให้ทำการขุดเจาะน้ำมันในบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของแดนจิงโจ้ ดำเนินงานด้วย “ความบกพร่องอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบ” จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย ทั้งนี้ มาร์ติน เฟอร์กูสัน รัฐมนตรีทรัพยากรแดนจิงโจ้ แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวานนี้(24)

พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย (PTTEP Australasia) กิจการในเครือของบริษัท ปตท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) หรือ PTTEP เป็นผู้ดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในแหล่ง “มอนทารา ” ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลติมอร์ ณ บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยเขตน่านน้ำดังกล่าวยังมีความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติเป็นอย่างมาก และรัฐมนตรีเฟอร์กูสันบอกกับรัฐสภาออสเตรเลียว่า รายงานการสอบสวนของรัฐบาลแดนจิงโจ้พบว่า พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย บกพร่องล้มเหลวไม่ได้มีการดำเนินงานตามหลักแห่งการประพฤติปฏิบัติที่ “สมเหตุสมผล”

“ความบกพร่องอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบในกระบวนวิธีดำเนินงานของ พีทีทีอีที ออสตราเลเชีย คือสาเหตุโดยตรงที่ทำให้การควบคุมที่ดีต้องขาดหายไป” เฟอร์กูสันบอก “การประพฤติปฏิบัติอันอยู่ภายใต้การควบคุมที่ดี ซึ่งได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับตรวจสอบแล้วนั้น เป็นสิ่งที่เพียงพอป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการควบคุมที่ดี อย่างไรก็ตาม พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ไม่ได้ยึดมั่นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติเหล่านี้ หรือกระทั่งอยู่กับมาตรฐานแห่งการก่อสร้างที่ดีของบริษัทเอง”

นอกจากนั้นรายงานยังได้แนะนำรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนเรื่องการออกใบอนุญาตให้บริษัทแห่งนี้ขุดเจาะน้ำมันที่แหล่งมอนตารา และกล่าวว่าถ้าหากไม่ถอนใบอนุญาต รัฐบาลก็ควรต้องแสดงเหตุผลว่าทำไมสิทธิของพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ที่จะดำเนินงานในดินแดนของออสเตรเลีย จึงไม่บังควรที่จะถูกเพิกถอน อีกทั้งรายงานยังเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนการทำงานของกรมทรัพยากรแห่งนอร์เทิร์นแทร์ริทอรีด้วย

อย่างไรก็ดี เฟอร์กูสันบอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่ออสเตรเลียจะไม่ให้นักลงทุนภายนอกเข้ามาในอุตสาหกรรมทรัพยากรของออสเตรเลีย โดยที่ในปัจจุบันทรัพยากรของแดนจิงโจ้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างแข็งแกร่ง สืบเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชีย

ทั้งนี้ พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ซึ่งต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการทำความสะอาดน้ำมันที่ไหลทะลักออกมาคราวนี้ ยังกำลังถูกตามจี้เรียกค่าเสียหายจากอินโดนีเซีย ที่ระบุว่าคราบน้ำมันที่รั่วไหลได้แผ่ไปจนถึงชายฝั่งของแดนอิเหนาด้วย

เหตุร้ายที่แหล่งน้ำมันมมอนตาราคราวนี้ เกิดขึ้นภายหลังเกิดการระเบิดบนฐานขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล “เวสต์ แอตลาส” ในวันที่ 21 สิงหาคม 2009 ทำให้ต้องมีการเร่งอพยพคนงานออกไป ขณะที่มีน้ำมันดิบไหลทะลักลงทะเลอยู่เรื่อยๆได้มีความพยายามหลายอย่างหลายประการเพื่อควบคุมน้ำมันที่กระจายตัวออกไป ทว่าไม่ประสบผล จวบจนกระทั่งถึงวันที่ 3 พฤศจิกายนจึงสามารถอุดรอยรั่วได้สำเร็จ

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า พีทีทีอีพี เอเอ ได้เสนอแผนการปรับปรุงแก้ไขประสิทธิภาพในการทำงาน ให้แก่รัฐบาลออสเตรเลีย หลังจากสิ้นสุดการสอบสวนและได้ดำเนินการตามแผนการปรับปรุงแก้ไขนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเสนอผลความคืบหน้าต่อรัฐบาลออสเตรเลียเป็นระยะๆ มาโดยตลอด

สำหรับ แผนการปรับปรุงแก้ไขนี้ได้รับคำชมเชยจากหัวหน้าคณะสอบสวนว่าเป็นแผนที่มีความสมบูรณ์และน่าชื่นชม ครอบคลุมจุดอ่อนของการปฏิบัติงานที่คณะกรรมการสอบสวนได้ระบุไว้อย่างครบถ้วน โดยต่อไปต้องรอผลสรุปจากคณะทำงานอิสระรายงานตรงรัฐมนตรีออสซี่เพื่อชี้ขาดเรื่องดังกล่าว
นายอนนต์ กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจว่า พีทีทีอีพี เอเอ จะสามารถพัฒนาแหล่งมอนทาราต่อเนื่องได้ โดยไม่น่ามีผลทำให้ต้องถูกทบทวนเพิกถอนใบอนุญาตในการพัฒนาแหล่งมอนทารา เพราะที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขประสิทธิภาพในการทำงานมาโดยตลอดเกือบ 12 เดือนแล้ว และได้นำเสนอผลความคืบหน้าต่อรัฐบาลออสเตรเลียเป็นระยะๆ ซึ่งผลการปฏิบัติตามแผนการปรับปรุงแก้ไขนี้ จะสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่รัฐบาลออสเตรเลียได้

โดย ขณะนี้บริษัทฯยังคงปฏิบัติงานเพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนแท่นเจาะสำรวจมอนทาราที่เสียหายจากไฟไหม้ต่อไป คาดว่าแหล่งมอนทาราจะผลิตน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งหลังปี 2554 ประมาณ 3-.35 หมื่นบาร์เรล/วัน

0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

Blog Archive
ขับเคลื่อนโดย Blogger.