วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

สัมมนา การควบคุมผลกระทบจากอุตสาหกรรม ด้วยความเข้มแข็งทางวิชาการของชุมชน - ที่มาบตาพุด

* ผู้คนประชาชน ในมาบตาพุด ได้อะไร - สนใจ แค่ไหน กับปัญหา ผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม *
โครงการสัมมนา
การควบคุมผลกระทบจากอุตสาหกรรม
ด้วยความเข้มแข็งทางวิชาการของชุมชน

จัดโดย
ศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามาตะ มหาวิทยาลัยคุมาโมโต ญี่ปุ่น
ร่วมกับ
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และภาควิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2554 เวลา 08.00 – 17.00 น.
ณ. ห้องประชุมประชุมชั้น 3 ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง


ความเป็นมา
ปัจจุบันแม้ว่าหลายฝ่ายได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงก็ตาม แต่ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่คงต้องแสวงหาคำตอบและการแก้ไขต่อไป จะเห็นได้ว่าทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เครือข่ายประชาสังคม หน่วยงานราชการ และนักวิชาการผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากยังคงเดินหน้าศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนขึ้นถึงลักษณะและระดับความรุนแรงของผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ต่อไป การศึกษาค้นคว้าและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและการสนับสนุนจำนวนมากทั้งจากภายในและจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามาตะ มหาวิทยาลัยคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น (Open Research Center for Minamata Studies, Kumamoto Gakuen University: MORC) กับเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ เพื่อส่งเสริมความเข็มแข็งแก่ภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งด้านวิชาการ สิทธิของชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลมลพิษและสารอันตราย การเจรจาและการสื่อสารกับภาครัฐ เอกชน และสาธารณชนทั่วไป
ศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามาตะก่อตั้งขึ้นเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 ในมหาวิทยาลัยคุมาโมโต ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นโดยกลุ่มแพทย์และนักวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แพทย์และนักวิชาการคณะนี้ได้ทำงานสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมินามาตะหรือโรคจากพิษของสารปรอทที่มีต้นเหตุจากน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษ ต่อมาเดือนสิงหาคมของปีเดียวกันได้เปิดสาขาคือ ศูนย์ศึกษาโรคมินามาตะขึ้นที่เมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโต ศูนย์ทั้งสองแห่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อเชื่อมความรู้และความช่วยเหลือจากสถาบันวิชาการสู่ผู้ป่วยโรคมินามาตะและชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกันทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ เพื่อร่วมป้องกันไม่ให้มนุษยชาติประสบกับหายนภัยทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาของมนุษย์ด้วยกัน เช่นที่เคยเกิดมาแล้วกับชาวเมืองมินามาตะและอีกหลายพื้นที่ในญี่ปุ่น และเพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน
การร่วมมือภายใต้โครงการนี้ ภาคประชาสังคมของไทยได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือทางวิชาการจากกลุ่มนักวิชาการของศูนย์ฯ แห่งนี้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2553 และจะร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการแก่ชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดต่อไป

ในโอกาสที่ดีนี้ศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามาตะ เครือข่ายประชาสังคมไทย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาเรื่อง “การควบคุมผลกระทบจากอุตสาหกรรมด้วยความเข้มแข็งทางวิชาการของชุมชน” ขึ้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยการสนับสนุนและเอื้อเฟื้อสถานที่ประชุมจากศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง
วัตถุประสงค์
การสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอแนวความคิด การทำงาน และความร่วมมือทางวิชาการของเครือข่ายทั้งสองประเทศแก่ชุมชน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้สนใจจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล-ข้อคิดเห็นกับผู้ร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ทุกท่าน ตลอดจนการสานความร่วมมือกับภาควิชาการของไทยในการเสริมสร้างความเข็มแข็งทางวิชาการแก่ชุมชนต่อไป
องค์กรผู้ร่วมจัด
1. ศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามาตะ มหาวิทยาลัยคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น
2. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
3. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
4. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (มบน.)
5. ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6. ภาควิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ผู้ร่วมสัมมนา จำนวนผู้ร่วมสัมมนาประมาณ 100 คน
1. ผู้แทนชุมชนในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง
2. ผู้แทนเครือข่ายชุมชนในพื้นที่อื่นๆ เช่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด สระบุรี สระแก้ว
และอื่นๆ
3. ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มประชาสังคมต่างๆ
4. ผู้แทนจากสถาบันวิชาการสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ
5. ผู้แทนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
6. ผู้แทนจากภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการ
7. สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ
งบประมาณดำเนินการรวม 200,000 บาท
วัน เวลา สถานที่: วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2554 เวลา 08.00-17.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง
ติดต่อประสานงาน: คุณวลัยพร มุขสุวรรณ และคุณจุฑามาศ ทรัพย์ประดิษฐ์
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (มบน.)
โทรศัพท์: 085 110 9350, 02-952 5061
โทรสาร: 02-952 5062
Email: mooksuwan@gmail.com; sjutamas24@gmail.com

0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.