วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศาลปกครอง เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อม 4 ส.ค. 54

ศาลปกครอง เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น 9 ศาลทั่วประเทศ เพื่อรับฟ้อง และพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม

ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยถึงการเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ว่า การเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองครั้งนี้ เป็นการเปิดทำการแผนกคดีฯ พร้อมกันทุกศาลทั่วประเทศ 9 แห่ง ได้แก่ ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองระยอง ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองอุดรธานี และศาลปกครองอุบลราชธานีรับฟ้องคดีปกครองพร้อมกันในวันนี้

ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติหลักการสำคัญทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในทางสิ่งแวดล้อมและอำนาจหน้าที่ของรัฐไว้ในมาตรา 66 มาตรา 64 และมาตรา 85 โดยกำหนดให้ชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

ตลอดจนการกำหนดรับรองสิทธิของบุคคลหรือชุมชนในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐไว้ด้วยว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ได้บัญญัติรับรองสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 67

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 3/2552 เรื่องการรับรองสิทธิและเสรีภาพ และอำนาจศาลในคดีพิพาทตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน และวินิจฉัยเรื่องสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ว่า ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด

หากปรากฏว่าการดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิและเสรีภาพของชุมชนและบุคคล และอำนาจหน้าที่ของรัฐ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง โดยผ่านกลไกสำคัญของรัฐ คือ หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ และมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ด้วย และผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งนอกจากจะมีผลผูกพันคู่กรณีแล้ว ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ และส่งผลกระทบที่เชื่อมโยงไปถึงการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม รวมทั้งอาจเกี่ยวข้องโดยทางอ้อมต่อการวางนโยบายทางสิ่งแวดล้อมในบางเรื่องของรัฐอีกด้วย

ประธานศาลปกครอง ระบุว่า รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2554 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2554 กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง มีอำนาจออกประกาศจัดตั้งแผนกคดีขึ้นในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น และโดยที่ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และสาธารณชนในวงกว้าง การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลปกครอง จึงเป็นไปเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นไปโดยรวดเร็ว ทันต่อการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และทันต่อการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายไม่เฉพาะแต่คู่กรณีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันด้วย อันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และยังประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ

จากเหตุผลข้างต้น จึงเห็นสมควรจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้นทุกศาล และในส่วนของศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นศาลที่วางหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นศาลที่ต้องพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมกรณีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นควรจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การฟ้องคดีต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองเร็วและดีอย่างไร ดร.หัสวุฒิ กล่าวว่า การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมทำให้ขั้นตอนการพิจารณาคดี ตั้งแต่การฟ้องคดี จนถึงการมีคำพิพากษาของศาลเป็นขั้นตอนที่แยกการพิจารณาออกมาโดยเฉพาะจากคดีปกครองประเภทอื่น จึงทำให้คดีเสร็จรวดเร็วและเหมาะสมกับคดีสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อส่วนรวม ซึ่งรอช้าไม่ได้

ขณะที่ตุลาการศาลปกครองที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงมั่นใจได้ในความถูกต้องและเป็นธรรมของคำพิพากษา

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แผนกคดีสิ่งแวดล้อม - ศาลปกครองไทย ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน


นับเป็นข่าวดีสุดๆ สำหรับวงการยุติธรรมไทยและวงการสิ่งแวดล้อม ที่ศาลแพ่งและศาลปกครองได้ตัดสินใจเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยศาลแพ่งได้ถือฤกษ์ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 เป็นวันดำเนินการวันแรก หลังจากที่ปล่อยให้ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกานำร่องเปิดแผนกนี้ตั้งแต่ปี 2548

เช่นเดียวกับศาลปกครอง ซึ่งว่ากันว่ามีคดีสิ่งแวดล้อมอยู่ล้นมือไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นคดีมาบตาพุด รวมไปถึงข้อพิพาทต่างๆ อีกมาก ระหว่างรัฐกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่กำลังจะไปสร้างในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกขยะ โรงไฟฟ้า ฯลฯ ก็ขอตามติดศาลยุติธรรม ด้วยการเปิดแผนกนี้แบบทุกระดับ ตั้งแต่ศาลปกครองชั้นต้นทั้งส่วนกลาง กับส่วนภูมิภาคอีก 9 จังหวัด ศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่ในวันที่ 2 สิงหาคม 2554 เป็นต้นมา

แน่นอน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการบ่งชี้ที่สำคัญว่า คดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และควรถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นพิเศษ เพราะต้องยอมรับว่านอกจากเรื่องนี้จะอยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างสูงแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าคดีที่เกิดขึ้น เมื่อขึ้นสู่การพิจารณาของศาลก็จะกินเวลาที่ยาวนานสุดๆ ตัวอย่างเช่น คดีมาบตาพุดซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมานานกว่า 2 ทศวรรษ แถมยังมีทีท่าจะลุกลามขึ้นอีก เพราะถึงตอนนี้กลุ่มทุนต่างๆ ก็ยังให้ความสนใจจะมาลงเงินในจุดศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไทยแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่คดีคลาสสิกอย่างกรณีของชาวหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งต้องเผชิญกับพิษตะกั่วที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยลงสู่แม่น้ำมานานกว่า 13 ปี แต่เชื่อหรือไม่ว่าคดีนี้เพิ่งเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา แล้วไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใดกันแน่

เพราะฉะนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้นับว่าเป็นเรื่องต้องจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะนี่อาจจะเป็นการพลิกโฉมของวงการยุติธรรมใหม่หน้าหนึ่ง โดยเฉพาะคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งว่ากันยุ่งยากซับซ้อน และสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

[1]

แต่ก่อนที่จะไปกล่าวถึงระบบการทำงานของสิ่งแวดล้อม เรื่องแรกที่คงต้องอธิบายให้ชัดเจนกันก่อนก็คือ ความแตกต่างหรือความพิเศษของคดีสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับคดีทั่วๆ ไปนั้นเป็นเช่นใด

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญคดีประเภทนี้ อธิบายว่า หากมองเผินๆ หลายคนคงไม่เห็นความแตกต่างอะไรมากนัก เพราะเอาเข้าจริง คดีสิ่งแวดล้อมก็คือคดีละเมิดประเภทหนึ่งนั่นเอง เช่น หากคุณเดินถนนอยู่ดีๆ แล้วมีรถมาชน คุณก็คือผู้เสียหาย ซึ่งก็เหมือนกับคุณอยู่บ้านเฉยๆ จู่ๆ วันหนึ่งก็มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้ง แล้วปล่อยควันพิษ น้ำเสียออกมา คุณก็ถือเป็นผู้เสียหายเช่นกัน แต่หากมองให้ลึกๆ ให้เห็นว่า นี่คือคดีที่มีความซับซ้อน เป็นคดีปัญหาของผู้บริโภคประเภทหนึ่ง ก็จะพบว่าเรื่องนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อใครคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังส่งผลคนจำนวนมากอีกด้วย เพราะฉะนั้นการมีเครื่องมืออะไรสักอย่างเข้ามาจัดการ เพื่อทำให้กระบวนการเรียกการเรียกร้องสิทธิทำได้ง่ายขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น

“คดีพวกนี้มันมีความซับซ้อน มีเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องมลพิษถือว่าชัดมาก เพราะมันจะมีตั้งแต่เรื่องสารอะไรเกิดขึ้น พิสูจน์อย่างไร น้ำใต้ดินหรือดินเสียมาจากไหน ซึ่งเราเรียกว่าความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์ได้ยาก หรือเรื่องจีเอ็มผิดไม่ผิด

“และถ้าย้อนไปดูสมัยที่ยังไม่มีศาลปกครอง ตอนแรกก็มักจะเป็นคดีระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่พอมันใหญ่ขึ้นหรือมีผลกระทบมากขึ้น ก็จะพันไปกับหน่วยงานของรัฐทันที ยกตัวอย่างเช่นเราเลี้ยงหมูตัวหนึ่งที่บ้านไม่เป็นปัญหา แต่พอเลี้ยงเป็นฟาร์มก็ต้องมีหน่วยงานสาธารณสุขมาให้อนุญาต หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร กฎหมายสาธารณสุขก็เข้ามาเหมือนกัน เพราะนั่นแสดงว่าคุณเริ่มมีผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งถ้าระบบย่อยก็ผ่านเทศบาล อบต. แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ก็เป็นระดับกรม กระทรวง บางทีก็ข้ามกระทรวงเลยก็มี

“เพราะฉะนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ หากรัฐอนุมัติไม่ถูกหรือคุมไม่ดี ก็จะกลายเป็นว่ารัฐเข้าไปเสริมเอกชนกลุ่มหนึ่งให้ไปทำร้ายเอกชนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไม่ตั้งใจ ดังนั้นอย่างคดีแพ่ง ถ้าไปคิดแบบเดิมมันทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอมีระบบปกครองเข้ามาก็ช่วยได้ เช่น รัฐทำอะไรไม่ดี ศาลปกครองก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ แต่ถามว่าเขาทำได้เต็มที่หรือยัง เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ ความท้าทายก็คือเวลาพิจารณามันก็ต้องมีการชั่งน้ำหนักว่าระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ป่วยซึ่งรับมลพิษกับผู้ประกอบการที่รัฐอนุญาต แถมยังมีเรื่องเศรษฐกิจของประเทศเข้ามาเกี่ยว ศาลปกครองจะทำอย่างไรให้สมดุล ซึ่งถ้าไปคุมมากศาลก็จะถูกด่าว่า คุณใช้อำนาจแทนรัฐหรือเปล่า ขณะที่อีกฝ่ายก็จะบอกว่าคุณมีอำนาจมากขนาดนี้ ทำไมไม่ใช้ให้เพียงพอ เพราะฉะนั้นมันจึงมีความซับซ้อนสูงมาก”

ที่สำคัญ ต้องยอมรับด้วยว่า คดีพวกนี้มักจะเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล ผู้มีอำนาจทางบ้านเมือง รวมไปถึงกลุ่มทุนต่างๆ ก็ยิ่งทำให้คดีสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

ไม่แค่นั้น บุคลากรในแวดวงยุติธรรมที่เป็นอยู่ก็ถือเป็นปัญหา เพราะคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ก็มีอยู่จำนวนน้อยนิด โดย สุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งต่อสู้เรื่องของสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน สะท้อนปัญหาให้เห็นว่า สิ่งที่ลำบากที่สุดของเรื่องนี้ก็คือข้อมูล โดยชาวบ้านจะต้องเป็นคนเตรียมข้อมูลเอง และข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่อธิบายปากเปล่าไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่ชำนาญงานเข้ามาช่วยทำ ซึ่งสุดท้ายก็จะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอีกมากมาย และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ โอกาสที่ชุมชนได้รับข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าคดีสิ่งแวดล้อมจะมีแต่ปัญหาสักทีเดียว เพราะในมุมของทนายความอย่าง สุรสีห์ พลไชยวงศ์ กรรมการสภาทนายความ จังหวัดกาญจนบุรี ฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งทำคดีชาวหมู่บ้านคลิตี้ ก็ยังบอกข้อดีของคดีเหล่านี้ โดยเฉพาะคดีแพ่งนั้นอายุความไม่ได้แค่ 1 ปีเหมือนคดีปกติ และมีถึง 10 ปีเลยทีเดียว ที่สำคัญในเรื่องภาวะการพิสูจน์ โดยทั่วไปฝ่ายโจทย์จะเป็นผู้พิสูจน์ แต่คดีสิ่งแวดล้อมนั้นกลับกัน เพราะถือว่าใครเป็นผู้ครอบครองสารพิษอยู่ในมือ ฝ่ายนั้นถือเป็นผู้ต้องสงสัย ทำให้โอกาสที่ฝ่ายผู้เสียหายจะชนะก็มีสูงมากขึ้น

แต่นั่นก็ไม่สามารถลบความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบได้มากนัก อย่างเรื่องของ ยะเสาะ นาสวนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคลิตี้ล่าง ที่เล่าถึงผลพวงจากความล่าช้าว่า ตอนนี้มันได้ส่งผลต่อการเยียวยาสภาพร่างกายและตลอดจนลำห้วยซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของชาวบ้านจนยากจะเยียวยาได้แล้ว

“เรื่องนี้ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปีแล้ว ชาวบ้านเขาต้องอดทน จากการใช้น้ำลำห้วย แต่ก่อนมันหากินได้ เดี๋ยวนี้มันต้องหาซื้อ อย่าง ปลา หรืออะไร เพราะน้ำมันกินใช้ไม่ได้ ชาวบ้านเขาก็แค่ต้องการค่าชดเชยบ้างเพราะมันไม่มีรายได้ ถ้าไม่ได้ก็อยู่ลำบาก”

[2]

จากปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ นี้เองส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คงถึงเวลาแล้วที่มีระบบการจัดการอะไรที่เป็นพิเศษ และมีวิธีพิจารณาแบบเดียวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะคดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นความเสียหายของคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการจะทำอะไรขึ้นมา ก็ควรจะยึดหลักที่ว่า ผู้คนสามารถเข้าถึงได้เร็ว ถูก และประหยัด เพราะผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนธรรมดาๆ นี้เอง

และแน่นอน การตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมภายในศาลแพ่งและศาลปกครอง ดร.สุนทรียาก็ยอมรับตามตรงว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะถือเป็นก้าวแรกของการจัดกลุ่มคดีนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น แทนที่จะต้องพิจารณาไปตามลำดับขั้นของคดีทั่วไป และเมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่ยากต่อการพัฒนาไปสู่ระบบที่ดีขึ้นกว่านั้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ใช่หมายความว่าสุดท้ายแล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมจะได้รับการแก้ไขสำเร็จ เพราะสิ่งสำคัญมากกว่านั้นก็คือ แม้ศาลจะมีประสิทธิภาพและมีเครื่องมืออยู่ในมือมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองควรจะทำก็คือ การเปลี่ยนบทบาทของตัวเองมาทำงานเชิงรุกมากขึ้น

ตัวอย่างตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีคดีพวกนี้เยอะๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สงขลา ระยอง ก็ควรจะมีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ซึ่งการจะทำได้นั้นศาลก็ต้องมีความพร้อมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความรู้ ความสนใจในประเด็นนี้ และต้องนำมาใช้ให้ถูกกับงาน

“ตอนนี้บุคลากรที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ก็มีบ้าง แต่ยังไม่ถูกเอามาใช้อย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องรีบทำ ให้มีการแลกเปลี่ยนกันฟัง คนที่เคยทำคดีแล้วช้า มันเป็นยังไง มาเล่าให้ศาลฟัง ผู้พิพากษาตั้งที่ปรึกษาที่ช่วยทำงานด้วยได้ไหม ขณะเดียวกัน ศาลก็ต้องทำให้ชาวบ้านสามารถนำเรื่องเข้าสู่ศาลได้ง่ายๆ เช่น มีทนายความที่จะช่วยเขาได้โดยเสียเงินน้อยๆ รวมทั้งระดมสรรพกำลังร่วมกันไม่ใช่ผู้พิพากษาทำฝ่ายเดียว คือต้องมีเอ็นจีโอ นักวิชาการมาช่วย

“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องมลพิษ ความเสียหายนับจากอะไร สมมติตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติ แต่หมออาจจะบอกว่ายังไม่ป่วย เรื่องพวกนี้เราจะต้องรู้ว่าป่วยหรือยัง ควรถูกเยียวยาหรือยัง แล้วป่วยเพราะโรงงานนี้หรือเปล่า อย่างมาบตาพุดมีโรงงานสัก 100 โรงก็ต้องรู้ว่าป่วยเพราะโรงงานไหน ถ้าเรามีเครื่องมือแบบนี้ก็จะสามารถทำงานเชิงรุกได้ เพราะเราต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องช้าหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม”

เช่นเดียวกับสุทธิที่มองว่า ปัญหาหนึ่งซึ่งคาอยู่ในใจของผู้ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ก็คือเรื่องเวลา ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ก็ถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะปรับตัวตามสถานการณ์มากขึ้น เช่น การกำหนดมาตรการคุ้มครองระหว่างการพิพากษาไว้ด้วย เพราะนั่นเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ระดับหนึ่ง

“กรณีที่กระบี่ที่มีกองถ่ายภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำ กว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้น ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ถ่ายจบและยกกองถ่ายกลับไปตั้งนานแล้ว สุดท้ายก็ต้องกลับมาฟื้นฟูอ่าวกันทีหลัง ทั้งๆ ที่ความจริงควรจะมีมาตรการคุ้มครองเป็นการระงับการถ่ายทำไว้ก่อนเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง และถ้าจะว่าไปแล้วจริงๆ แล้วคดีสิ่งแวดล้อม น่าจะไปอยู่ที่ศาลปกครอง เพราะศาลปกครองนั้นเป็นศาลอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถมีอำนาจในการกำหนดมาตรการคุ้มครองได้ทันท่วงทีกว่าศาลปกติ และในอนาคตก็ควรจะมีการแยกเป็นศาลสิ่งแวดล้อมออกมาต่างหากเลย”

[3]

อย่างไรก็ดี แม้ตอนนี้จะเห็นแสงสว่างรำไรในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรเลย แม้แต่นิดว่าสุดท้ายแล้วเรื่องพวกนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะอย่างที่กล่าวว่าตั้งแต่ต้นว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและวุ่นวาย ดังนั้น หากต้องการให้เรื่องนี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอย่างแท้จริง สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือการรื้อระบบโครงสร้างทั้งหมดของเรื่องนี้ใหม่ทั้งหมด

ดร.สุนทรียาชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้ระบบคดีสิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นเอกภาพ เนื่องจากมีศาลหลายศาลที่ดูแลอยู่ ส่งผลให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ แถมยังขาดความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานของกฎหมาย เนื่องจากบางครั้งเรื่องเดียว แต่มีกฎหมายระบุมากกว่า 2-3 ฉบับ แถมบรรทัดฐานในการกำหนดก็ไม่เท่าเทียมอีกต่างหาก

“เรื่องพวกนี้ไม่ชัดเจน แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่เคลียร์ แล้วตัวบทที่มาขยายก็ไม่มี มันก็เลยเป็นปัญหา เพราะไม่มีบรรทัดฐาน ทุกอย่างจะกลายเป็นขึ้นอยู่กับอำเภอใจ ที่สำคัญเรื่องความระบบก็มีปัญหา อย่างเรื่องศาลก็ไม่ชัดเจน ตอนที่เกิดคดีผู้ที่ได้รับสารพิษจากโคบอลต์-60 เห็นได้ชัด บางคนก็ร้องศาลปกครอง บางคนก็ร้องศาลแพ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถูกนำไปหลายๆ ที่ เพราะฉะนั้นกว่าจะได้มาเรื่องหนึ่งก็นานมาก แถมมาตรฐานการตัดสินใจในคำพิพากษาก็ไปคนละทาง หรือคดีคลิตี้ก็ชัดเจน ชาวบ้านจะไปที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ศาลปกครองกลางบ้าง แล้วในที่สุดมาตรฐานคำตัดสินก็ไม่เป็นระบบ และล่าช้าไม่เห็นองค์รวม”

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องดำเนินการ ตั้งแต่ต้นทางอย่างกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักนิติวิทยาศาสตร์ อัยการ เรื่อยมาจากถึงผู้พิพากษา โดยเฉพาะการประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้ใช้งานมากที่สุด ไม่เช่นนั้นองค์กรต่างๆ จะมองแบบแยกส่วนและไม่เห็นองค์รวมของปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการผลิตบุคลากรที่เหมาะสมและเชี่ยวชาญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อจะได้เป็นตัวยืนในการแก้ปัญหาต่อไปได้

“กระบวนการบางอย่างมันต้องอาศัยระบบ เช่น กระบวนการหาพยานซึ่งหายากๆ สมมติต้องนำผลอากาศไปตรวจในห้องแล็บว่า โรงงานปล่อยสารพิษมา เขาจะทำอย่างไร เครื่องมือพวกนี้ชาวบ้านไม่มี แต่จะให้ศาลไปหาให้หมดก็ไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา และกฎหมายก็ไม่เอื้อ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีความช่วยเหลือในเชิงกฎหมาย หรือเชิงเทคนิควิทยาศาสตร์ ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ก็ต้องสถาบันด้านนิติวิทยาศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมมาช่วย และจุดใหญ่ที่สำคัญยังมีเรื่องแบบการบุกรุกที่ดินรายใหญ่ อัยการยังไม่เข้ามาเป็นพระเอกในคดี แต่กลายเป็นว่าให้ชาวบ้านทำเอง มันก็เลยไม่ได้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับนายทุน

“เรื่องพวกนี้ต้องมีการศึกษา จริงๆ อยากให้คนที่อยู่ในระบบออกไปดูงานต่างประเทศว่า เขาทำกันอย่างไร เช่นอัยการก็ไปดูว่า เขาฟ้องผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษอย่างรุนแรง เมื่อไหร่ที่คุณทำโรงงานแย่ก็ต้องถูกปิด หรือถูกฟ้องยึดทรัพย์ ซึ่งอย่างกรณีบำบัดของเสียอย่างเรื่องคลิตี้ ถ้าเป็นอเมริกาหรือแคนาดา ก็จะถูกประเมินว่า ราคาเท่าไหร่ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน และฟื้นฟูอย่างไร แต่กลับกลายเป็นว่าคลิตี้อยู่มา 10 กว่าปีแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนเลย แล้วต่อให้ศาลให้ชนะคดี คำถามต่อมาคือใครจะมาทำการฟื้นฟูแม่น้ำตรงนี้ ทำอย่างไร ซึ่งแสดงว่าเราขาดองค์ความรู้”

ซึ่งข้อเสนอหนึ่งในการจัดระบบนี้ที่ดูจะได้รับการตอบรับมากที่สุดก็คือ การตั้ง 'ศาลสิ่งแวดล้อม' ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในเรื่องสิ่งแวดล้อม และนำมาสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างจริงจัง

“เมื่อก่อนศาลแบบนี้มีแค่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสวีเดน แต่เดี๋ยวนี้มีเป็นร้อยๆ ประเทศ แม้กระทั่งบราซิล ในป่าอะเมซอน ซึ่งอยู่ในป่าก็ยังมี แต่บางแห่งก็ไม่มีแต่เขาก็จะมีระบบของเขา เช่น ที่ฟิลิปปินส์ เขาจะมอบให้ผู้พิพากษา 1-2 คนทำแต่เรื่องนี้อย่างเดียวเลย บางแห่งก็ต้องเป็นศาลพิเศษ เช่น ศาลว่าด้วยป่าไม้ ว่าด้วยทะเล ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละแห่ง

“แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ เรื่องเครื่องมือ ซึ่งเขาคิดวิธีใหม่ๆ เยอะมาก เช่น คดีป่าไม้ ชาวบ้านบุกรุกที่เมือง ถามว่าแก้อย่างไร ถ้าเป็นบ้านเราก็เอาเข้าคุก แต่ออกมาก็ตัดอีกใช่ไหม เพราะฉะนั้นเขาจะส่งไปเรียนหนังสือ ทำเกษตรผสมผสานเลย เพื่อให้เกิดเปลี่ยนวิธี หรือเรื่องประมง ลากอวนใหญ่ ศาลเขาก็จะสั่งให้จัดอบรมเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งบริษัท เพื่อให้รู้ถึงระบบนิเวศของปลา โดยศาลลงไปคุม หรือแม้บริษัทใหญ่ก็ลงในใบหุ้นเลยว่า ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมอย่างไร ซึ่งทั้งหมดเขาเน้นการทำในเชิงรุก”

ที่สำคัญ เรื่องพวกนี้จะอาศัยเรื่องระบบกระบวนการยุติธรรมในการแก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ยังถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนตลอดจนผู้ประกอบการ ที่จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกในประเด็นสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกคนมีส่วนในการทำลายทรัพยากรและก่อให้เกิดมลพิษทั้งนั้น ซึ่งหากทำได้ ในที่สุดปัญหาก็เริ่มคลายตัวลงไปเอง
>>>>>>>>>>
……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.