วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
โทลูอีน : กับความเสี่ยงต่อการแท้งและความผิดปกติของทารกในครรภ์
00:52
โทลูอีน : กับความเสี่ยงต่อการแท้งและความผิดปกติของทารกในครรภ์
รองศาสตราจารย์ ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล*
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ความประมาทจนก่อให้เกิดการลุกไหม้ของสารโทลูอีนและเกิดการระเบิดของโรงงานฝ่ายผลิต
ยางรถยนต์ ภายในบริเวณ บริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัด
ระยอง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 เป็นข่าวใหญ่ต่อสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของ
ประชาชน รวมทั้งบรรยากาศของการท่องเที่ยวของผู้ที่ชื่นชอบผลไม้ของจังหวัดระยอง สําหรับคนไทย
ทั่วประเทศคงมีคําถามคล้าย ๆ กันว่า เมื่อไรปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจะได้รับการ
แก้ไขอย่างแท้จริง เพราะมีแต่ข่าวมลพิษ อุบัติภัย ความขัดแย้งกับชุมชน โดยเฉพาะความพยายามที่จะ
นําพื้นที่สีเขียวในอําเภอบ้านค่ายและอําเภอวังจันทร์ ตลอดจนพื้นที่ต้นน้ํามาใช้ในการประกอบ
อุตสาหกรรม รวมทั้งคําถามถึงอนาคตในกรณีที่มีโรงงานหยุดผลิต ทิ้งร้าง รัฐมีหลักประกันใดที่เจ้าของ
กิจการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะอันตรายและสารพิษในโรงงานที่ทิ้งร้าง เพราะกังวลใจว่าใน
ที่สุดรัฐจะต้องเป็นผู้แบกภาระโดยนําภาษีของประชาชนไปจ่ายในส่วนที่โรงงานต้องรับผิดชอบถ้า
หน่วยงานอนุญาตให้สร้างโรงงานมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่รัดกุมเพียงพอ เพราะการเกิดอุบัติเหตุแต่
ละครั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยจากอุบัติเหตุของโรงงานจํานวนมาก
ส่งผลให้งบประมาณปกติของโรงพยาบาลที่ได้รับจัดสรรให้ต่อหัวประชากรถูกเบียดบังไปใช้เพื่อรองรับ
ความประมาทของโรงงานแทนที่จะใช้กับการส่งเสริมและรักษาสุขภาพของประชาชน
นักวิชาการกลุ่มที่ได้อ่านรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงงานนี้และบริษัท
ในเครือมีแผนที่การติดตั้งถังสารเคมีในการผลิตของโรงงาน ทุกคนภาวนาให้สามารถควบคุมการลุกไหม้
ของโรงงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะยังมีถังสารเคมีที่ติดตั้งในพื้นที่จํานวนมาก และโรงงานใกล้เคียง คือ
โรงงานบริษัทไบเออร์ไทย จํากัด ซึ่งมีถังสารเคมีอยู่จํานวนมากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความไม่
ชัดเจนว่าสารเคมีที่ระเหยปนเปื้อนในอากาศครั้งนี้เป็นสารโทลูอีนเพียงชนิดเดียวหรือมีถังสารเคมีชนิด
อื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น สารบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ความโชคดีของคนระยองครั้งนี้ คือ การที่มี
ฝนตกทําให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ง่ายกว่าปกติ อย่างไรก็ตามผู้รับผิดชอบได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่า
สารคมีที่ปนเปื้อนในอากาศและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย คือ โทลูอีน รวมทั้งให้ข้อมูลว่าสารชนิดนี้
ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่มิได้ให้ข้อมูลความเป็นพิษของโทลูอีนในแง่มุมอื่น
การติดตามข่าวในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ขอตั้งข้อสังเกตว่าการประกาศรับรองต่อสาธารณะ
ถึงความปลอดภัยของสารปนเปื้อนในอากาศยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน มีความเร่งรีบรับรองว่าปลอดภัย และ
ให้ประชาชนกลับบ้านได้ โดยขาดมาตรฐานและความน่าเชื่อถือทางวิชาการ หากเปรียบเทียบกับการ
ระเบิดของโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นมีการประกาศรายชื่อสารเคมีและปริมาณที่ตรวจพบ พร้อมทั้งให้
ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เข้าใจและนําไปใช้ในการปกป้องดูแลตนเองและบุคคลในครอบครัว จึงปรารถนาที่จะเห็นการประกาศต่อสาธารณะของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ว่าได้ตรวจสอบ
การปนเปื้อนของสารเคมีชนิดใดบ้าง และตรวจวัดพบว่าค่าการปนเปื้อนเท่าใด พื้นที่ใดบ้างที่ปลอดภัย
เนื่องจากเป็นที่ทราบชัดว่าการตรวจหาสารเคมีปนเปื้อนในอากาศนั้นต้องตรวจรายชนิด เพราะมีวิธีการ
ตรวจไม่เหมือนกัน และค่ามาตรฐานความปลอดภัยของสารเคมีแต่ละชนิดเป็นค่าเฉพาะ เพื่อให้
ประชาชนมั่นใจได้ว่าองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้อง เคารพ ปกป้อง และได้ดําเนินมาตรการที่จําเป็นและ
เพียงพอที่จะทําให้สิทธิของชุมชนที่จะดํารงชีพได้อย่างปกติ รวมทั้งสิทธิด้านต่างๆ ที่มีการรับรองไว้ตาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญา
และตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักการและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องซึ่ง
รัฐบาลไทยได้ลงนามไว้กับนานาชาติมีการดําเนินการเพื่อให้สิทธิเหล่านี้เกิดผลที่เป็นจริง
การเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับมลพิษโดยตรงมีความจําเป็นอย่างยิ่ง เพื่อ
นําข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจปกป้องประชาชนซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องจากอุบัติภัย และมี
ความสําคัญยิ่งต่อนาทีชีวิตของเหยื่อ เพราะรายชื่อสารเคมีจําเป็นต่อการรักษาเพื่อลดความเป็นพิษของ
สารเคมีชนิดนั้น หากแพทย์ทราบชัดถึงชนิดสารเคมีที่เป็นต้นเหตุจะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงกับสาเหตุ
อย่างไรก็ตามข้อมูลของสารเคมีที่เปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีของโรงงานนี้มุ่งเน้นที่สารโทลูอีน
บทความนี้จึงนําเสนออันตรายของโทลูอีนในแง่มุมที่มีการกล่าวถึงไม่มากนัก แต่มีความสําคัญต่อชุมชน
คือ ผลกระทบต่อทารกและการแท้งของสตรีมีครรภ์
โทลูอีนเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่นิยมนํามาใช้เป็นตัวทําละลายทดแทนสารเบนซีน เนื่องจาก
โทลูอีนละลายในไขมันได้ดี จึงสามารถผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบได้เร็วและ
จากรายงานทางวิชาการพบว่าโทลูอีนสามารถแพร่ผ่านรกได้ดี ทําให้ตรวจพบโทลูอีนในเนื้อเยื่อต่างๆ
ของทารกและในน้ําคร่ําที่อยู่ในมดลูกของแม่ที่สัมผัสโทลูอีน รวมทั้งพบในทารกแรกเกิดด้วย (1)
การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าโทลูอีนสามารถคงอยู่ในสัตว์วัยอ่อนที่อยู่ในท้องแม่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง
และหนูเม้าซ์ที่ได้รับโทลูอีนขณะตั้งท้องนั้นตรวจพบโทลูอีนสะสมอยู่ในตับจํานวนมาก (2, อ้างตาม 3)
รายงานการศึกษาให้สัตว์ทดลองที่ได้รับโทลูอีน ด้วยวิธีให้กิน หรือให้ได้รับทางการหายใจ มี
รายงานการศึกษาในสัตว์หลายชนิด เช่น หนู แฮมสเตอร์ และกระต่าย โดยให้ได้รับโทลูอีนในช่วงเวลาที่
แม่มีอายุครรภ์ต่างๆ กัน พบว่ามีผลแตกต่างกันตามปริมาณและระยะเวลาที่สัตว์ทดลองได้รับสารโทลูอีน
โดยอาการที่ตรวจพบมีความหลากหลาย ขึ้นกับชนิดสัตว์ ปริมาณโทลูอีนที่ได้รับและอายุครรภ์ เช่น ทํา
ให้เกิดการแท้ง หรือมีผลให้ลูกที่เกิดมีน้ําหนักน้อยกว่าปกติ อวัยวะที่สําคัญมีน้ําหนักน้อยกว่าปกติ เช่น
หัวใจ ตับ ไต และสมอง รวมทั้งมีผลเพิ่มอัตราการตายของทารกก่อนหรือหลังคลอด สัตว์บางชนิดมี
ความไวกว่าสัตว์อื่น เช่น หนูทดลองจะมีความไวกว่าแฮมสเตอร์ นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติของ
เนื้อเยื่อประสาท การได้ยิน และการเจริญของกระดูกโครงร่างช้ากว่าปกติด้วย (อ้างตาม 4)
การศึกษาในคนที่ได้รับโทลูอีนจากการสูดดมต่อเนื่อง พบความผิดปกติของรูปร่าง เช่น กระดูก
ซี่โครงเพิ่มขึ้นซี่ที่ 14 ในกลุ่มที่ได้รับโทลูอีน 1,000 ppm นาน 6 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงที่มารดามีอายุครรภ์ 1-17 วัน นอกจากนี้พบความผิดปกติอื่น ๆ คือ ความผิดปกติของใบหน้าคล้ายกับทารกที่มารดา
ติดสุราในระยะตั้งครรภ์ คือ มีส่วนกลางของใบหน้าแบน กระบอกตาลึก กระดูกที่เชื่อมระหว่างรูจมูก
แบน (รูปที่ 1 จาก 5 อ้างตาม 2) การให้กําเนิดทารกที่มีรูปร่างผิดปกติในคนนั้น มีรายงานว่าเกิดจาก
ทารกได้รับโทลูอีนผ่านมดลูกในขณะที่อยู่ในครรภ์ และแม่ไม่สามารถกําจัดสารตกค้างจากโทลูอีนซึ่งไป
ทําลายไตได้ (รูปที่ 2 จาก 2)
(ภาพนี้นํามาจากวารสาร Teratology 55:145–151 (1997) ซึ่งเจ้าของบทความได้ขออนุญาตเผยแพร่ภาพ
จาก Arnold และคณะ (1994) จึงถูกนํามาอ้างอิงในบทความนี้ โดยมิได้ขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน จึงขอให้
ระมัดระวังในการนําไปเผยแพร่ต่อ)
รายงานการศึกษาสาเหตุการแท้งของสตรีมีครรภ์ โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์สตรี 50
คน (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 105 ครั้ง) ซึ่งทํางานในโรงงานผลิตลําโพงและได้รับโทลูอีนปริมาณสูง 88
ppm (ช่วง 50-150 ppm) เปรียบเทียบกับสตรีที่ทํางานในแผนกอื่นของโรงงานเดียวกันซึ่งได้รับโทลูอีน
1 ppm หมายถึง มีสารโทลูอีน 1 ส่วน ในสารละลาย 1 ล้านส่วน
น้อยมากหรือไม่ได้รับเลย (0-25 ppm) จํานวน 31 คน (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 68 ครั้ง) โดยเปรียบเทียบ
กับสตรีที่อยู่ในชุมชนทั่วไปที่เข้ารับการรักษาในคลินิกแม่และเด็กหลังการคลอด จํานวน 190 คน เป็น
กลุ่มควบคุม (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 444 ครั้ง) พบว่าสตรีกลุ่มที่ทํางานในโรงงานและได้รับโทลูอีน
ปริมาณสูง มีอัตราการแท้งสูงถึง 12.4 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง ซึ่งมีอัตราการแท้งสูงกว่าสตรี
กลุ่มที่ทํางานในโรงงานเดียวกันซึ่งได้รับโทลูอีนน้อยหรือไม่ได้รับเลย ที่พบว่ามีอัตราการแท้งเพียง 2.9
ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง ซึ่งความแตกต่างนี้มีนัยสําคัญทางสถิติ ส่วนสตรีกลุ่มในชุมชนทั่วไปนั้น
พบอัตราการแท้ง 4.5 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง นอกจากนี้ในสตรีกลุ่มที่ได้รับโทลูอีนสูงนั้นเมื่อ
เปรียบเทียบอัตราการแท้งระหว่างก่อน-หลังเข้าทํางานในโรงงานความแตกต่างที่มีนัยสําคัญทางสถิติ
โดยก่อนทํางานมีอัตราการแท้ง 2.9 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง และมีอัตราการแท้งเพิ่มขึ้นหลังจาก
เข้าทํางานในโรงงานเป็น 12.6 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง สตรีเกือบทั้งหมดไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่ม
แอลกอฮอล์ ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการได้รับสารโทลูอีนของสตรีมีครรภ์ความเสี่ยงต่อการแท้ง
และสูญเสียทารกในครรภ์ (6)
ถึงเวลาที่สิทธิของประชาชนในจังหวัดระยองจะได้รับการปกป้องอย่างแท้จริงหรือยัง เริ่มต้น
ที่สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร และการชดเชย เยียวยา ที่เป็นธรรม จึงควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี
มาให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในการเข้าถึงสิทธิที่ถูกละเมิดมาอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบระบบ
การปกป้องประชาชนจากภัยพิบัติของโรงงานอุตสาหกรรมที่รัฐเป็นผู้อนุมัติ/อนุญาตและควบคุมการ
ดําเนินการ (7)
รูปที่ 2 เมแทบอลิซีมของโทลูอีน อาศัยการทํางานของเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส
(ADH) และอัลดีไฮด์ ดีโฮโดรจีเนส 1 (ALDH1) และ 2 (ALDH2) เพื่อสลายโทลูอีน โดยเปลี่ยนโครงสร้าง
โมเลกุลและกําจัดออกทางปัสสาวะ
เอกสารอ้างอิง
(1) Goodwin, T.M. Toluene abuse and renal tubular acidosis. Obstet. Gynecol. 1988,
71:715–718.
(2) Wilkins-Haug, L. Teratogen Update: Toluene, Teratology. 1997, 55:145–151.
(3) Ghantous, H. and Danielsson, B.R.G. Placental transfer and distribution of toluene,
xylene and benzene, and their metabolites during getation in mice. Biol. Res.
Pregnancy. 1986, 7:98–105.
(4). EPA/635/R-05/004, Toxicological review of toluene (CAS No. 108-88-3), In Support
of Summary Information on the Integrated Risk Information System (IRIS),
September 2005. U.S. Environmental Protection AgencyWashington D.C.
(5) Arnold, G., R.S. Kirby, S. Langendoerfer, and Wilkins-Haug , L. Toluene embryopathy:
Clinical delineation and developmental followup. Pediatrics. 1994, 93:216–220.
(6) Ng, T.P., Foo, S.C, and Yoong, T. Risk of spontaneous abortion in workers exposed
to toluene. Brit. J. Ind. Med.1992, 49:804-808.
(7) (ร่าง) รายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อกรณีข้อร้องเรียนของ
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 2555 (คณะกรรมการกําลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างรายงานฉบับ
สมบูรณ์)
วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
อดีตคนงานแฉภัยสารพิษทำหัวหน้าฆ่าตัว เครือข่ายผู้ป่วยฯจี้รัฐเร่งแก้ความปลอดภัย
22:39
อดีตคนงานแฉภัยสารพิษทำหัวหน้าฆ่าตัว เครือข่ายผู้ป่วยฯจี้รัฐเร่งแก้ความปลอดภัย ศรีสุวรรณยื่นศาลถอน'อีไอเอ-ใบอนุญาต'
| |||
โดย ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ | |||
จากเหตุการณ์เหตุระเบิดขึ้นในโรงงานบีเอสที ในเครือบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตามมาด้วยเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลของโรงงานของบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 12 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นที่ยังถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง และหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นตามมาโดยเฉพาะในภาคแรงงาน กับประเด็นเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงานซึ่งมีการออกมาแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ รัฐบาล รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจในการดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานมากกว่านี้ หลังจากที่พบว่าในระยะที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุภายในสถานปฏิบัติงานที่ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวพนักงานและชุมชนที่อยู่รอบข้างมากขึ้น
อดีตคนงานบีเอสทีแฉภัยในโรงงานบีเอสที
นายสมหมาย ประไว นักสื่อสารแรงงาน จากเครือข่ายสมาฉันท์แรงงานไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า หลังเกิดเหตุระเบิดและไฟลุกไหม้ที่โรงงานดังกล่าวแล้ว ได้พยายามสืบค้นข้อมูลจากเพื่อนพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งได้รับทราบจากอดีตพนักงานบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงงานที่เกิดเหตุ เล่าว่า ในช่วงที่เขาทำงานในโรงงานแห่งนี้ ช่วงการทำงานจะแบ่งออกเป็น 3 plan แต่ละ plan มีพนักงานประมาณ 100 คน การทำงานมีเพียง 2 กะ กะละ 12 ชั่วโมง ทำ 2 วัน หยุด 2 วัน ทำ 3 วันหยุด 3 วัน รับเงินเป็นเงินเดือน ตกเดือนละประมาณ 8,000 บาท
ตัวของผู้ให้ข้อมูลระบุว่า เคยทำงานในตำแหน่ง Fild Operator คือ พนักงานระดับปฏิบัติการ ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างของสารเคมีที่ผสมแล้ว เพื่อนำไปส่งให้กับพนักงานประจำห้องแล็บ ตรวจสอบกระบวนการผสมหรือการทำปฏิกิริยาของสารเคมีว่า ได้ผลกี่เปอร์เซ็นแล้ว รวมทั้งทำหน้าที่ปิด-เปิดวาล์วท่อสารเคมี ที่มีท่อจำนวนมาก อาจจะมีสูงถึงหลักพันวาล์ว ซึ่งในการทำงานพนักงานจะต้องทำตามขั้นตอน และคู่มือการทำงานอย่างเคร่งครัด เพราะหากเกิดความผิดพลาด จะทำให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากในกระบวนการผลิตหากถังที่บรรจุสารเคมีเต็มแล้ว ยังมีการเปิดวาล์วเพิ่มจำนวนสารเคมีเข้าไปอีก แรงดันจะดันจนถังบรรจุรับไม่ไหวและจะเกิดระเบิดขึ้นทันที
นายสมหมายกล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับอดีตพนักงานคนดังกล่าว ยังได้ข้อมูลอีกว่า สำหรับสารเคมีที่ใช้ในโรงงานแห่งนี้ บางชนิดต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ไม่เกินลบ 14 องศาเซลเซียส หากเกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจนสูงขึ้นกว่านั้น อาจติดไฟและระเบิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายเป็นอย่างมาก ส่วนสาเหตุที่เขาต้องลาออกจากโรงงาน เพราะรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี และมีอาการแพ้สารเคมี โดยเฉพาะจุดที่ทำอยู่นั้นมีสารสไตรีนบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารที่นำมาเป็นส่วนผสมหนึ่งในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่จะรับรู้ถึงอันตรายของสารตัวนี้ เพราะแค่ไอของสารมาสัมผัสถูกผิวหนังอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้ และในช่วงแรกที่เริ่มเข้าไปทำงาน เขาระบุว่า แค่ได้กลิ่นและสูดดมเข้าไปก็เกิดอาการแสบจมูก แสบคอ ตลอดเวลาที่ทำอยู่ 2 ปี รับรู้ได้ว่าร่างกายมีความอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้บริษัทจะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ ขณะปฏิบัติงานก็ตาม แต่ก็มีบางจังหวะที่เผลอเรอบ้าง
รันทดคนงานผูกคอตายหนีทรมานจากสารเคมี
“เรื่องของผลกระทบที่พนักงานในโรงงานได้รับจากสารเคมีต่างๆ ในโรงงานแห่งนี้ มีให้พบเห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง มีอยู่กรณีหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับพนักงานของโรงงานแห่งนี้เป็นอย่างมาก คือ กรณีของหัวหน้างานคนหนึ่งอายุประมาณ 40 ปี ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ทำงานกับบริษัทมา 8 ปี เป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับงานมาก เวลางานติดขัดหรือมีปัญหาหัวหน้างานคนนี้จะรีบไปแก้ไขทันที จนบางครั้งไม่ได้ใส่ใจที่จะสวมอุปกรณ์ป้องกันภัยจากสารเคมีต่างๆ เขาทำเป็นประจำ จนในที่สุดการที่รับสารเคมีสะสมเรื่อยๆ ทำให้เขาเกิดอาการไม่สบายจนต้องไปหาหมอ ซึ่งหมอได้ให้ยาเพื่อขับสารพิษที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกาย ผลก็คือร่างกายรวมทั้งผิวหนังของเขามีผื่นตุ่มคัน แต่เขาก็ยังคงทานยาและมาทำงานตามปกติ โดยบริษัทเองก็ให้การช่วยเหลือดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่สุดท้ายเขาทนอยู่ได้ประมาณ 2 ปี จึงตัดสินใจลาโลกด้วยการผูกคอตายในห้องพักของตัวเองเพื่อหนีโรคร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานส่วนใหญ่สะเทือนใจอย่างมาก” นายสมหมายกล่าว
เครือข่ายผู้ป่วยฯชี้ชีวิตคนงานเสี่ยงภัยทุกวินาที
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการกับเหตุการณ์สารเคมีระเบิดดังกล่าว วันเดียวกัน นางสมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องผลักดันนโยบายสุขภาพความปลอดภัยให้เป็นจริง โดยระบุถึงกรณีเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบพุด จ.ระยอง ว่า เป็นความบกพร่องประมาทเลินเล่อ ของสถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเป็นเหตุให้สะเทือนขวัญ เหตุการณ์ระเบิดโรงงานครั้งนี้ นับเป็นข่าวสร้างความเสียหายอีกครั้งหนึ่ง ต่อภาพลักษณ์ของสังคมและประเทศชาติ ที่อาจทำให้ถูกมองว่า มีแต่นโยบายที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาอุตสาหกรรม จนละเลยขาดระบบการป้องกันตรวจสอบ
นางสมบุญกล่าวว่า จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 ผ่านมาจะครบรอบ 19 ปี สถานการณ์เรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ชีวิตคนงานก็ยังต้องตกอยู่ในสภาวะวิกฤต เสี่ยงภัยอยู่ทุกวินาที ทั้งภัยเครื่องจักรอันตราย และจากสารเคมีที่ร้ายแรง รวมไปถึงปัญหาในการเข้าไม่ถึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ จึงมีความเห็นและขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ต่อกรณีนี้ดังนี้
1.ให้คนงานที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนี้ได้เข้าถึงสิทธิการดูรักษาอย่างดีและได้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน 2.ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพื่อแสดงความรับผิดชอบนอกเหนือกฎหมาย 3.ให้ตรวจสอบสถานประกอบการณ์ที่มีอันตรายโดยเร่งด่วนและยุติการผลิตจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ปลอดภัย
เสนอรัฐชัดเจนนโยบายความปลอดภัยระยะยาว
นอกจากประเด็นการเยียวยาวในระยะสั้นแบบเร่งด่วนแล้ว ในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวยังได้เสนอต่อภาครัฐในการดำเนินการระยะยาว คือ 1.รัฐต้องมีนโยบายแผนงานแห่งชาติพัฒนาระบบงานอาชีวเวชศาสตร์เพื่อให้มีการผลิตบุคลกรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ และปริมาณเพียงพอในระยะยาว การจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน ที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐาน การจัดบริการที่สามารถทำให้ลูกจ้าง นายจ้างเข้าถึงได้ง่าย
2.ต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาส่งเสริมป้องกันการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เพื่อลดการสูญเสียในอนาคตของลูกจ้าง นายจ้างลดรายจ่ายการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน 3.ต้องให้มีนโยบายส่งเสริมเรื่องตรวจสุขภาพลูกจ้าง ที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน ตามกฎกระทรวงอย่างต่อเนื่อง โดยลูกจ้างมีสิทธิเลือกแพทย์สถานพยาบาล เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจของลูกจ้าง 4.รัฐบาลลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้ ฉบับที่ 155 ว่าด้วย ความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) ฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) และฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)
ชี้ต้องให้ทุกหน่วยมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
5.ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยงานจากการฯ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการศึกษาที่ผลิต/อบรมบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงาน ด้านอาชีวอนามัยฯ เพื่อนำไปสู่ “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ในการทำงาน
6.การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง
7.เร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นองค์กรมหาชน มีส่วนร่วม และ บูรณาการ มาทำงานด้านการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับแรงงานไทย โดยเน้นมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และ โครงสร้างกรรมการต้องมาจากการสรรหา
8.การงดใช้แร่ใยหิน ชดเชยผู้ป่วย และ 9.จัดตั้งกองทุนผู้ประสบภัยจากการทำงานและมลพิษ ทั้งนี้ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ในสมัชชาคนจน เป็นองค์กรที่รวบรวมสมาชิกที่มีทั้งคนงานและชุมชนที่ประสบปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานและมลพิษสิ่งแวดล้อม รวมกลุ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ดำเนินการร่วมเรียกร้องสิทธิ และ ผลักดันนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กับรัฐบาลในนามสมัชชาคนจนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้นำด้านสุขภาพในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งยังเข้าร่วมเครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยด้วย
ฟ้องศาลปกครองถอนอีไอเอ-ใบอนุญาตบีเอสที-อดิตยาฯ
นอกจากประเด็นเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน ที่ภาคแรงงานออกมาเรียกร้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ และภาครัฐเข้มงวด และให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้นแล้ว ในประเด็นของการดูแลเรื่องมาตรการความปลอดภัยในด้านสิ่งแวดล้อม และชุมชน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่มีการเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งลงวันที่ 2 ธ.ค.2552 ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านมาบตาพุดรวม 43 รายได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ รวม 8 หน่วยงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานต่างๆ จำนวน 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง และให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสองนั้น
แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 5-6 พ.ค.2555 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในโรงงานบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด และโรงงานของบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า จำกัด ตามลำดับ ทำให้มีผู้ล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากทั้งสองโรงงานดังกล่าว เป็นโรงงานใน 76 โรงงานที่สมาคมฯและชาวบ้านได้ฟ้องร้องและปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้นในวันที่ 10 พ.ค. เวลา 10.00 น. สมาคมฯจะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาเพื่อมีคำสั่งใหม่ สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8) เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการของทั้ง 2 โรงงานต่อไป ขณะเดียวกันจะขอให้ศาลสั่งให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) ของทั้งสองโรงงานต่อไปด้วย
| |||
วันที่เขียนบทความ 09/05/2555 |
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
จำนวนการดูหน้าเว็บรวม
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Fire Explosion in Thai Oil Safety Lesson Learned: Fire Explosion in Thai Oil Location of Incident: Thailand ไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันไทยออยส์ ปี 1...
-
องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกโดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์และรักษาสิ่งแวดล้อ...
-
ความมักง่ายบกพร่องอย่างกว้างขวางและทำเป็นระบบ เลิกใส่ใจถามไปเลย เรื่อง CSR กับภาคอุตสาหกรรมมักง่าย แค่เพียงสำนึกง่ายๆ โรงงานเสี่ยงมากมาย ที่...
รายการบล็อกของกลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น
ขับเคลื่อนโดย Blogger.