วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

ปาฏิหาริย์แห่งเทคโนโลยี แผ่นดินไหว 7.1 ตาย 0 คน

“ตาย 220,000 ราย เหยื่อแผ่นดินไหวระดับ 7.0 ริกเตอร์ในเฮติ ณ มกราคม 2010”

“เหยื่อแผ่นดินพิโรธ 6.9 ริกเตอร์ พุ่งถึง 2,000 ศพ ที่ตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเดือนเมษายน 2010”

“กว่า 500 ชีวิตสังเวยแผ่นดินไหว 8.8 ริกเตอร์ ที่ชิลี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2010”

สภาอาคารเมืองไครสต์เชิร์ช หลังผ่านเหตุแผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์
และแล้วปาฏิหาริย์ได้อุบัติขึ้นให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในเมืองแห่งพระเยซู หรือ ไครสต์เชิร์ช นครขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อชาวเมือง 340,000 คนภายในเมืองต้องประสบกับเหตุแผ่นดินไหวระดับดุเดือดถึง 7.0 ริกเตอร์ ในช่วงเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 4 กันยายน

หายนะที่เกิดขึ้น ณ มูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยแผ่นดินแยกเป็นแนวยาว รางรถไฟบิดเบี้ยวเสียหาย แต่ปรากฏว่าอาคารต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่มีการพังทลายหรือยุบตัว และเหนืออื่นใด แม้จะมีรายงานถึงเหยื่อแผ่นดินไหวที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย แต่ไม่มีรายงานการเสียชีวิตในเหตุรุนแรงครั้งนี้!!

นี่คือปาฏิหาริย์ หรือผลงานเชิงเทคโนโลยีกันแน่?

เจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่งเมืองไครสต์เชิร์ชให้ข้อมูลว่า ในเบื้องต้นเลยโชคดีที่การสะเทือนเลื่อนลั่นของแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดในช่วงเช้ามืด ทำให้ลดความเสี่ยงไปได้อย่างมหาศาลในแง่ที่ว่าจะมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจากแผ่นดินแยก หรือกำแพงอาคารร่วงทับ และจึงกลายเป็นว่าเหยื่อที่โดนกำแพงอาคารร่วงทับกลับเป็นบรรดารถยนต์ที่จอดอยู่ข้างบ้าน

โชคดีประการสำคัญมีอยู่ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในอาคารบ้านเรือนซึ่งค่อนข้างปลอดภัย

เป็นความปลอดภัยที่สวนทางอย่างยิ่งกับข้อเท็จจริงที่ว่า นิวซีแลนด์นั้นตั้งอยู่บนจุดเสี่ยงสูงของโลก โดยอยู่ในพื้นที่หัวแยกของแนวการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ที่แท้แล้วเป็นผลจากการ “ลงทุน” สร้างระบบโครงสร้างความปลอดภัยไว้เมื่อราวสิบปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการรณรงค์ให้ตื่นตัวกับการป้องกันภัย ผ่านการสรุปบทเรียนราคาแพงที่นิวซีแลนด์เคยได้รับในกรณีธรณีพิโรธเมืองนาเปียร์ ปี 1931 อันเป็นมหาวิบัติแผ่นดินไหวสะท้านสะเทือนระดับ 7.8 ริกเตอร์ และคร่าชีวิตผู้คนไป 256 ราย ที่ฮอว์กส์ เบย์

เด็กหนุ่มเมืองกีวีไต่ลงไปในรอยแยกของถนน
ปีเตอร์ เบิร์กเอาท์ ซีอีโอแห่งสถาบัน BRANZ ซึ่งเป็นองค์การด้านวิจัยความปลอดภัยในการก่อสร้าง ให้เฉลยว่า อาคารบ้านเรือนรุ่นใหม่ๆ ในนิวซีแลนด์ ส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยโครงไม้ซุงขนาดเบา ซึ่งเอื้อให้เกิดความยืดหยุ่นขณะที่ถูกเล่นงานโดยคลื่นสั่นไหวของผืนแผ่นดิน

ในการนี้ อาคารที่ได้รับความเสียหายหนักๆ ในไครสต์เชิร์ช เป็นอาคารรุ่นเก่าที่สร้างจากวัสดุที่เกาะตัวกันแน่นหนา จนทำให้ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ในยามแผ่นดินไหว

เบิร์กเอาท์บอกว่านิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกที่ได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อภัยแผ่นดินไหว โดยที่สถาบัน BRANZ ได้จัดสร้างโรงงานวิจัยขนาดใหญ่ในเวลลิงตันไว้แสดงให้เห็นกันกับตาว่า บ้านหลังใหญ่ ไซส์จริงๆ นั้น สามารถรับแรงเขย่าแบบแผ่นดินไหวได้อย่างไร

แม้แต่อาคารสำนักงานก็ถูกสร้างบนรากฐานที่มีลักษณะที่เหมือนกับอยู่บนการรองรับที่ซับแรงกระเทือนได้ ดังนั้น หากต้องเผชิญกับแรงสะเทือนของแผ่นดินไหวใหญ่ๆ อาคารเหล่านี้สามารถสั่นสะท้านไปทั่ว แต่ไม่ทลายตัวลงมา

เท่ากับการลดโอกาสสร้างความเสียหายรุนแรงต่อร่างอันบอบบางของมนุษย์ที่อยู่ภายใน หรืออยู่ใกล้ๆ กับอาคารได้อย่างมหาศาล

ต้องขอบคุณปาฏิหาริย์แห่งเทคโนโลยี และปาฏิหาริย์แห่งพลังใจผู้คนที่มองการณ์ไกลเพียงพอที่จะลงทุนเพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืน อันเป็นคุณลักษณ์ที่หายากในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

Blog Archive
ขับเคลื่อนโดย Blogger.