โรงงานมาบตาพุด ไม่ต่างกับ ป้ายโฆษณา ขนาดใหญ่ อนุมัติถูก กม. แต่เสี่ยงทรุดพัง ไม่แข็งแรง
ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่
ถึงออกแบบก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายก็อาจล้มคว่ำได้!จาก http://www.thaiengineering.com/column/lesson_disaster/banner_fail/BILLBOARDS.asp
เมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน ได้เกิดเหตุป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ สูง 47 เมตรที่บางนาหักโค่นลงมาทับอาคารบ้านเรือนในขณะที่เกิดพายุฝน จนเป็นเหตุให้เด็กหญิงวัย 7 ขวบคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา พ่อของเด็กหญิงผู้เคราะห์ร้ายได้กล่าวทั้งน้ำตากับผู้สื่อข่าวว่า ไม่เคยนึกว่าป้ายโฆษณานี้จะพังลงมา อยากให้กรณีนี้เป็นบทเรียนครั้งสุดท้ายที่จะกระตุ้นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาตรวจสอบ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากอย่างเอาจริงเอาจังเสียที เพราะมันเป็นอันตรายมาก จะได้ไม่ต้องมีใครมานั่งเสียใจแบบครอบครัวของตน
จากการสอบสวนภายหลังเกิดเหตุ ทำให้ทราบว่า ป้ายโฆษณานี้สร้างผิดไปจากแบบก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตจาก กทม. เจ้าพนักงานสอบสวนจึงตั้งข้อหากับสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบและ วิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างว่าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่พึงกระทำ และกระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ต่อมา กทม. ได้จัดตั้งทีมงานพิเศษ 3 ชุดออกตรวจสอบป้ายโฆษณาทั่วทั้งกรุงเทพฯ เพื่อดูว่าป้ายใดบ้างที่สร้างผิดจากแบบที่ได้รับ อนุญาตหรือสร้างโดยไม่ได้ขออนุญาต รวมทั้งทำการตรวจสภาพโครงสร้างป้ายในเบื้องต้นเพื่อดูความมั่นคงแข็งแรง ภายหลังจากที่ได้ตรวจสอบป้ายโฆษณาจำนวน 1,059 ป้าย ภายในเวลาประมาณ 1 เดือน กทม.ก็รายงานว่ามีจำนวนถึง 327 ป้ายที่เข้าข่าย "ไม่ปลอดภัย" โดยที่ป้ายเหล่านี้เกือบทั้งหมดก่อสร้างโดยไม่ขออนุญาตหรือก่อสร้างผิดแบบ และมีป้ายบางส่วนที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรือมีสภาพทรุดโทรมเพราะขาดการบำรุงรักษา กทม. จึงได้แจ้งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขปรับปรุงป้ายให้ถูกต้องโดยเร็ว มิฉะนั้นจะออกคำสั่งให้รื้อถอนป้ายเหล่านั้น
ดูเหมือนว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ที่บางนา ปัญหาความเสี่ยงของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่จะได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้ความสำคัญกับปัญหานี้และมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี มีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ถูกมองข้ามไป นั่นคือ ทุกคนดูเหมือนจะเชื่อว่า ป้ายโฆษณาเหล่านี้ถ้าได้รับการออกแบบอย่างถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด ไว้ในกฎหมายและก่อสร้างอย่างถูกต้องตามแบบแล้ว ป้ายจะมั่นคงแข็งแรง จะไม่พังทลายล้มคว่ำลงมาเหมือนเหตุการณ์ที่บางนา ดังนั้นป้ายโฆษณาที่ล้มคว่ำพังทลายเสียหายเมื่อเกิดพายุฝนหรือลมแรงจะ ต้องมีการออกแบบก่อสร้างที่ต่ำกว่ามาตรฐานอย่างแน่นอน!
ความเชื่อดังกล่าวนี้ถูกต้องหรือไม่? มาตรฐานการออกแบบป้ายโฆษณาของเราดีอยู่แล้วจริงหรือ? คำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญ เพราะถ้ามาตรฐานของเรายังไม่ดีเพียงพอ ป้ายโฆษณาที่ออกแบบก่อสร้างอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็อาจล้มคว่ำได้ และการที่ กทม. พยายามเร่งรัดเจ้าของป้ายที่ผิดกฎหมายให้ปรับปรุงป้ายให้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนดก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ป้ายเหล่านั้นปลอดภัยเพื่อตอบคำถามนี้ ในขั้นแรก เราจำเป็นต้องเข้าใจวิธีการออกแบบโครงสร้างป้ายโดยสังเขปเสียก่อน ป้ายโฆษณาทั่วไปมักมีลักษณะเป็นเสาเหล็กตั้งขึ้นมาจากพื้นดินหรือจากชั้นดาดฟ้าของอาคาร มีแผ่นป้ายขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่บนเสาซึ่งเป็นส่วนที่มีพื้นที่กว้างสามารถรับแรงปะทะของลมได้มาก ดังนั้น "แรงลม" จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการออกแบบโครงสร้างป้าย วิศวกรผู้ออกแบบจำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างป้ายให้สามารถต้านทานแรงลม ที่สูงที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับป้ายได้อย่างปลอดภัย เพื่อการนี้ กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความใน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รวมทั้งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ได้อนุญาตให้วิศวกรใช้หน่วยแรงลมดังต่อไปนี้ในการคำนวณหา "แรงลมสูงสุด":
พื้นที่รับแรงปะทะลมที่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 10 เมตร มีหน่วยแรงลม 50 กก./ตร.ม
พื้นที่รับแรงปะทะลมที่สูงกว่า 10 เมตร แต่ไม่เกิน 20 เมตร มีหน่วยแรงลม 80 กก./ตร.ม
พื้นที่รับแรงปะทะลมที่สูงกว่า 20 เมตร แต่ไม่เกิน 40 เมตร มีหน่วยแรงลม 120 กก./ตร.ม
พื้นที่รับแรงปะทะลมที่สูงกว่า 40 เมตร มีหน่วยแรงลม 160 กก./ตร.ม
หน่วยแรงลมเหล่านี้ คือค่าแรงลมสูงสุดต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตรของแผ่นป้าย
ในสภาพความเป็นจริง แรงลมสูงสุดที่เกิดกับป้ายอาจมีค่าแตกต่างจากค่าที่กฎหมายกำหนด ถ้ามีค่าน้อยกว่า ป้ายก็ควรจะตั้งอยู่ได้อย่างปลอดภัย หรือแม้แต่ในกรณีที่มีค่ามากกว่าที่กฎหมายกำหนดเล็กน้อย ป้ายก็ควรจะสามารถทนได้ เพราะมาตรฐานทางวิศวกรรมได้กำหนดให้มีการออกแบบเผื่อไว้สำหรับความไม่แน่นอน ของแรงและความไม่แน่นอนกำลังของวัสดุโครงสร้างในระดับหนึ่ง แต่ถ้าแรงลมสูงสุดมีค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปมาก โครงสร้างป้ายก็อาจทนไม่ไหวจนทำให้เกิดความเสียหายดังนั้น คำถามจึงอยู่ที่ว่า แรงลมสูงสุดที่จะเกิดกับป้ายในสภาพจริงมีค่าเท่าไหร่? เราสามารถคำนวณค่าแรงลมสูงสุดนี้ได้ด้วยหลักวิชา Aerodynamics ถ้าเราทราบค่า "ความเร็วลมสูงสุด" ณ บริเวณที่ตั้งป้าย ในกรณีของประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตั้งสถานีตรวจอากาศเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ในหลายจังหวัดทั่วทั้งประเทศ สถานีเหล่านี้มีอุปกรณ์วัดความเร็วลมติดตั้งอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 10 เมตรขึ้นไป จึงทำให้เรามีการจดบันทึกค่า "ความเร็วลมสูงสุด" ที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานถึงประมาณ 40-50 ปีแล้ว ตัวอย่างค่าความเร็วลมสูงสุด และค่าหน่วยแรงลมสูงสุดที่คำนวณได้ แสดงไว้ในตารางดังต่อไปนี
สถานีตรวจอากาศ | ความสูง* (เมตร) | ความเร็วลมสูงสุด (กม. ต่อชั่วโมง) | หน่วยแรงลมสูงสุด** (กก. ต่อ ตร.ม.) |
กรุงเทพฯ (เอกมัย) | 33 | 148 | 152 |
กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) | 19 | 157 | 172 |
ชลบุรี | 14 | 167 | 193 |
สัตหีบ | 10 | 135 | 127 |
ปราจีนบุรี | 11 | 130 | 117 |
แม่ฮ่องสอน | 10 | 150 | 156 |
แพร่ | 12 | 126 | 110 |
พิษณุโลก | 13 | 124 | 107 |
อุดรธานี | 13 | 130 | 117 |
มุกดาหาร | 11 | 148 | 152 |
อุบลราชธานี | 25 | 148 | 152 |
นครสวรรค์ | 14 | 130 | 117 |
นครศรีธรรมราช | 15 | 148 | 152 |
สงขลา | 18 | 141 | 138 |
* ความสูงของตำแหน่งอุปกรณ์วัดลมเหนือพื้นดิน
** คำนวณโดยใช้ความหนาแน่นของอากาศเท่ากับ 1.22 กก. ต่อ ลบ.ม. และค่า Aerodynamic Drag Coefficient เท่ากับ 1.45 จากบทความเรื่อง "Wind loads on rectangular signboards and hoardings" เขียนโดย Dr. C.W. Letchford ลงพิมพ์ใน Journal of Wind Engineering and Industrial Aerodynamics ฉบับที่ 89 ค.ศ. 2001
จากตารางจะเห็นได้ว่า หน่วยแรงลมสูงสุดในสภาพจริงมีค่าสูงมากตั้งแต่ 107 จนถึง 193 กก. ต่อ ตร.ม. ในขณะที่ป้ายขนาดใหญ่โดยทั่วไปซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร จนถึงประมาณ 40 เมตร ถูกออกแบบให้รับหน่วยแรงลมเพียง 80 หรือ 120 กก. ต่อ ตร.ม. ดังนั้น ถึงแม้ว่าการออกแบบตามมาตรฐานจะมีการเผื่อความไม่แน่นอนของแรงไว้แล้ว ในระดับหนึ่งก็อาจไม่เพียงพอ ที่จะทำให้โครงสร้างป้ายปลอดภัยเมื่อเผชิญกับหน่วยแรงลมสูงสุดในสภาพจริง
นอกจากนี้ หน่วยแรงลมที่เกิดขึ้นในสภาพจริงมักไม่ได้มีค่าที่สม่ำเสมอทั่วทั้งป้าย กล่าวคือ ในกรณีที่ลมมิได้พัดเข้าปะทะป้ายตรงๆ แต่ทำมุมเฉียง หน่วยแรงลมบนพื้นที่ใกล้ขอบด้านหนึ่งของป้ายจะมีค่าสูงกว่าพื้นที่ตอนกลางและพื้นที่ใกล้ขอบอีกด้านหนึ่ง (ค่าหน่วยแรงลมที่แสดงในตารางเป็น ค่าเฉลี่ย ของหน่วยแรงลมที่ไม่สม่ำเสมอนี้) ความไม่สม่ำเสมอของหน่วยแรงลมนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างป้ายได้ ตัวอย่างเช่น ป้ายที่มีรูปร่างเป็นกระดานสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเสา 2 ต้น ยึดอยู่ที่ขอบ 2 ข้างของกระดานป้าย ถ้าหน่วยแรงลมมีค่าสม่ำเสมอทั่วทั้งกระดานป้าย เสาทั้ง 2 ต้นจะช่วยแบกรับแรงลมในระดับเท่าๆกัน คือ ต้นละประมาณ 50% ของแรงทั้งหมด แต่ในสภาพจริงหน่วยแรงลมที่ไม่สม่ำเสมออาจทำให้เสาต้นหนึ่งต้องแบกรับแรงมากเป็นพิเศษถึงประมาณ 75% ของแรงทั้งหมด ในขณะที่เสาอีกต้นแบกรับเพียง 25% เท่านั้น ดังนั้น ถ้าวิศวกรมิได้ออกแบบโครงสร้างให้เตรียมรับสถานการณ์นี้ เสาต้นที่แบกรับแรงมากเป็นพิเศษก็อาจเสียหายได้
มาตรฐานใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงสร้างป้ายโฆษณาในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ ออสเตรเลีย มีข้อกำหนดชัดเจนที่ทำให้วิศวกรผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่หน่วยแรงลมมีค่าไม่สม่ำเสมอ แต่มาตรฐานของประเทศไทยเรายังไม่มีข้อกำหนดในลักษณะนี้
ด้วยข้อมูลและเหตุผลที่กล่าวมานี้ คงเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า ป้ายโฆษณาที่ได้รับการออกแบบอย่างถูกต้อง ตามมาตรฐานและข้อกำหนดในกฏหมายของเรา รวมทั้งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็อาจพังทลายล้มคว่ำลงมาได้ถ้าเกิดมีลมพายุที่รุนแรงในระดับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นถ้าคุณภาพของการออกแบบก่อสร้างป้ายนั้นต่ำกว่ามาตรฐาน
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากสถานีตรวจอากาศ ดูเหมือนจะชี้ว่า ความเร็วลมสูงสุดที่วัดได้ในหลายจังหวัด ทั่วทั้งประเทศนั้นเกือบทั้งหมดเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm) มิได้เกิดจากลมมรสุมตามฤดูกาล หรือ พายุหมุนเขตร้อน (เช่น พายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน หรือพายุไต้ฝุ่น) พายุฝนฟ้าคะนองนี้จัดเป็นพายุขนาดย่อมที่ทำให้เกิดสภาพลมแรงในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตร ในช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 5 ถึง 30 นาที ในเขตกรุงเทพมหานครมีพายุประเภทนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในแต่ละปี โดยเฉพาะในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม และในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพายุลูกเล็กที่ไม่ทำให้เกิดลมแรงนัก พายุลูกใหญ่หน่อยที่ทำให้เกิดลมแรงมากๆนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ก็มักสร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน รวมทั้งป้ายโฆษณาในบริเวณนั้นๆ
ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าเราจะมีป้ายที่ไม่ปลอดภัยอยู่เป็นจำนวนมาก ป้ายเหล่านั้นก็อาจตั้งอยู่ได้หลายปี ตราบใดที่ยังไม่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงในบริเวณที่ตั้งป้าย ดังนั้น การที่ป้ายตั้งมานานแล้วโดยยังไม่เกิดความเสียหายใดๆจึงไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าป้ายนั้นมั่นคงแข็งแรง
สิ่งที่เราควรรีบทำในขณะนี้คงมี 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือ เราต้องปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างป้ายโฆษณา ให้ดีขึ้นจนเพียงพอที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้ได้ งานนี้คงต้องระดมสมองจากนักวิชาการ วิศวกรผู้ออกแบบในภาคปฏิบัติและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันทำอย่างเร่งด่วน เรื่องที่ 2 คือ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทุกป้ายที่ตั้งอยู่ใกล้อาคารบ้านเรือนไม่ว่าจะก่อสร้างอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ควรจะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดตามมาตรฐานใหม่ว่ามีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ ถ้ายังไม่เพียงพอก็ต้องเสริมความแข็งแรง หรือมิฉะนั้นก็ต้องรื้อถอนออกไป
ถ้าทำได้ดังเช่นที่กล่าวมานี้ ประชาชนเป็นจำนวนมากที่อาศัยอยู่ใกล้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่คงนอนหลับ ได้อย่างสบายไม่ต้องมาเฝ้าผวาเป็นกังวลทุกครั้งที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองผู้เขียน :
ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย pennung@ait.ac.th
เป็นรองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) และ เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม ของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.)
จำนวนการดูหน้าเว็บรวม
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Fire Explosion in Thai Oil Safety Lesson Learned: Fire Explosion in Thai Oil Location of Incident: Thailand ไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันไทยออยส์ ปี 1...
-
องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกโดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์และรักษาสิ่งแวดล้อ...
-
ความมักง่ายบกพร่องอย่างกว้างขวางและทำเป็นระบบ เลิกใส่ใจถามไปเลย เรื่อง CSR กับภาคอุตสาหกรรมมักง่าย แค่เพียงสำนึกง่ายๆ โรงงานเสี่ยงมากมาย ที่...
- 2012 (2)
- 2011 (17)
-
2010
(42)
- ธันวาคม(1)
- พฤศจิกายน(11)
- ตุลาคม(14)
-
กันยายน(9)
- ดินทรุด ดอยแม่สลอง - เรื่องดินที่เข้าใจยาก
- โรงงานมาบตาพุด ไม่ต่างกับ ป้ายโฆษณา ขนาดใหญ่ อนุมั...
- ระทึก! ทาวน์เฮาส์ทรัพย์ยั่งยืนเมืองปากน้ำทรุด 16 ห...
- ท่อก๊าซระเบิด ในแคลิฟอร์เนีย อเมริกา 10 ก.ย. 53 สั...
- 7/11 ประเภทกิจกรรม-โครงการ ส่งผลกระทบรุนแรง หมกเม็...
- ข่าวเกินจริง ทำให้เข้าใจผิด บอกโรงกลั่นระเบิด ตาย1...
- ถังเก็บน้ำมัน ศรีราชา ระเบิด 5 ก.ย. 53 ลางร้ายใหม่
- ปาฏิหาริย์แห่งเทคโนโลยี แผ่นดินไหว 7.1 ตาย 0 คน
- ธรรมชาติ ที่หาความแน่นอนอะไรไม่ได้ ... !?
- สิงหาคม(7)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น