วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไทยส่อแววซ้ำเติมโลกร้อน จ่อคิวเป็นเมืองอุตสาหกรรมทุกภาค

ไทยส่อแววซ้ำเติมโลกร้อน จ่อคิวเป็นเมืองอุตสาหกรรมทุกภาค

โดย อาร์เอสยูนิวส

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกต้องจับตามอง เพราะเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตคนหมู่มาก ทั้งๆ ที่มนุษย์ทราบดีว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยต่อลมหายใจของเราให้ยาวขึ้น แต่ก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มจ้องจะทำลาย เพียงเพราะเม็ดเงินที่เป็นความสุขเฉพาะหน้า โดยไม่คิดถึงอนาคตของมวลมนุษยชาติ

ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในปี 2554 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนี้มีมากมาย หากต้นปี 2554 ยังเกิดปรากฏการณ์โลกร้อนจากปรากฏการณ์ลานีญา ปัญหานี้จะนำไปสู่วิกฤติของเรื่องอาหาร และเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเรายังไม่ทราบชัดเจนว่าประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่ ทั้งนี้ในปี 2553 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หลังจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคใต้ ทำให้ประเทศประสบปัญหาการขาดแคลนมะพร้าว ซึ่งเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นตัวอย่างของภัยธรรมชาติที่นำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนควรเตรียมรับมือ

ดร.อาภา กล่าวต่อไปว่า ในปี 2554 พื้นที่ภาคอีสานจะมีโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น จ.อุดรธานี มีการผลักดันเรื่องโครงการทำเหมืองแร่โปแตชที่ใช้ทำปุ๋ย ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถยื้อมาได้ประมาณ 5-6 ปี แต่ขณะนี้บริษัทได้รับสัมปทานและเข้าไปปักหมุดแล้ว หากชาวบ้านคัดค้านไม่อยู่ โครงการนี้จะส่งผลกระทบในเรื่องของดินเค็ม เพราะภาคอีสานจะมีเกลือสินเธาว์อยู่ใต้ดิน การขุดแร่โปแตชจะทำให้เกลือจำนวนมหาศาลถูกขุดขึ้นมา มีผลกระทบต่อการทำการเกษตรในวงกว้าง ทั้งพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา รวมไปถึง จ.สกลนคร ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ภาคอีสานยังมีปัญหาเรื่องเหมืองทองคำใน จ.เลย และพิจิตร เพราะสินแร่ทองคำจะมีโลหะหนักตัวอื่นๆ เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนอยู่ และที่สำคัญกระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำจะมีการใช้สารไซยาไนต์ เพราะฉะนั้นน้ำทิ้งที่ออกมาจะมีสารไซยาไนต์ออกมาเป็นองค์ประกอบอยู่ถือเป็นสารที่อันตรายมาก หากมีปริมาณสูงอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งกว่าที่เราจะได้ทองคำ 1 บาท เราต้องทลายภูเขาทั้งลูกเพื่อที่จะเอาสินแร่ไปป้อนโรงงาน ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อมมาก นอกจากนี้ภาคอีสานยังมีปัญหาเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาซึ่งจะทำให้มีการสร้างเขื่อนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการกั้นแม่น้ำ อันเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของลำน้ำอย่างมาก

หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในส่วนของภาคเหนือขณะนี้ทางรัฐบาลได้รื้อฟื้นการทำเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามผลักดันทั้งๆ ที่ชาวบ้านยังมีการคัดค้าน รวมทั้งมีการพยายามทำโครงการร่วมกับต่างประเทศหลายโครงการ ซึ่งจะนำไปสู่การขังน้ำในเขตแม่น้ำโขง โครงการดังกล่าวต่างทำเพื่อหาน้ำมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเหล็ก รวมทั้งธุรกิจการขนส่ง ทั้งนี้ในส่วนของภาคเหนือ ยังมีการขยายตัวของการทำเหมืองแร่ เหมืองถ่านหิน เหมืองสังกะสี ซึ่งยังคงมีสารปนเปื้อนออกมาส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน

“ในส่วนของภาคกลาง บริเวณจังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก ยังคงมีเหมืองแร่ทองคำอยู่ ที่จังหวัดพิจิตรได้รับสัมปทานมา 5-6ปีแล้ว ที่จังหวัดพิษณุโลกกำลังอยู่ในช่วงการขอสัมปทานเปิดเหมืองใหม่ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเดียวกัน สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออก ยังคงเป็นเรื่องของการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด โดยเฉพาะเรื่องของปิโตรเคมี ในขณะเดียวกัน จ.ระยอง ก็มีการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่วนภาคตะวันตก ตอนนี้บริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้เซ็นสัญญาสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นชุดอุตสาหกรรมใหญ่เหมือนเช่นที่มาบตาพุด คือ นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้ว จะมีโรงงานไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ยังมีการต่อเชื่อมเส้นทางการขนส่งสินค้าจาก จ. กาญจนบุรี ถึง แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเป็นการเชื่อมต่อระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย”

ดร.อาภา กล่าวถึงปัญหานิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้ว่า ขณะนี้ จ.นครศรีธรรมราช ถูกผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดย จ.สตูล และสงขลา จะเป็นบริเวณสะพานเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันให้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อขนส่งน้ำมัน ในอนาคตมีแนวโน้มว่าบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลมีแผนการขยายโครงการปิโตรเคมีในเขตพื้นที่ภาคใต้ จึงมีแนวโน้มว่าจะมีการสร้างพลังงานจากแหล่งน้ำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใน 5–10 ปีข้างหน้า ขณะนี้ชาวบ้านใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กำลังต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปตามแผนการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต หรืออาจจะเป็นเรื่องของการซื้อขายพลังงานภายในภูมิภาคนี้

“การสร้างนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในชาติ แน่นอนว่าชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นอาจจะต้องโดนขับไล่ออกจากพื้นที่ทำมาหากินดั้งเดิม แต่ผลกระทบที่จะมีมากกว่านั้น คือ นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้น ดังนั้นคนกรุงเทพฯ อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว ทั้งนี้รัฐบาลควรมีความชัดเจนในทิศทางการพัฒนาประเทศ เพราะดูเหมือนว่าจะมุ่งเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่กำหนดทิศทางให้ตอบสนองผลกำไรของนายทุน ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลเห็นแก่ชาวบ้านจริงๆ อยากทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข คงต้องหันกลับมาฟังเสียงของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมการกำหนดทิศทางในแผนการพัฒนามากขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลควรกลับมามองในเรื่องฐานเกษตรกรรมของเราให้ยั่งยืน เพราะถือเป็นความมั่นคงด้านอาหารของโลก” หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

วันที่ 01/02/2554

0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.