วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

‘ขยะดิจิตอล’ ต้นทุนของโลก

คุณมีอีเมลที่ยังไม่เปิดอ่านเป็นพันๆ หรือเปล่า?

นานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้จัดการหรือทำความสะอาดสารพัดไฟล์ในคอมพิวเตอร์?

คุณบอกทุกอย่างที่ทำ หรือโหลดรูปภาพวันละหลายสิบรูปลงบนเฟซบุ๊กทุกวันหรือเปล่า?

ความสะดวกสบายและความบันเทิงที่เทคโนโลยีหยิบยื่นให้เรา ทั้งคำบรรยายคุณูปการอันมากมายที่โซเชียล เน็ตเวิร์ก มีต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและโลก ดูเหมือนจะทำให้ผู้คนหลงลืมไปว่า โลกต้องแบกต้นทุนมากแค่ไหน ทุกครั้งที่เรากดปุ่มเอนเทอร์

ไม่นานมานี้ กรีนพีซ ได้รณรงค์ ‘The SoCoal Network’ ผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อคัดค้าน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ตัดสินใจเลือกถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานให้แก่ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ของเฟซบุ๊ก ทำให้มีการเปิดข้อมูลตัวเลขหลายตัวที่ทั้งน่าสนใจและตกใจ

จากบทความเรื่อง ‘เรา เขา เฟซบุ๊ก ถ่านหิน’ ของ ฐิตินันท์ ศรีสถิต ใน www.onopen.com บอกว่า กรีนพีซได้คาดการณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าของระบบทั้งหมดของเฟซบุ๊กในอีก 10 ข้างหน้าว่าจะสูงถึง 1,963 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งมากกว่าปริมาณการบริโภคไฟฟ้าในปัจจุบันถึง 3 เท่า และมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา และบราซิลรวมกัน หรือข้อมูลที่ว่าปัจจุบันมีการอัปโหลดภาพมากกว่า 220 ล้านภาพต่อสัปดาห์ ซึ่งเท่ากับค่าไฟเดือนละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28 ล้านบาท)

แต่ชีวิตยุคดิจิตอลผูกโยงกับเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ มากกว่าแค่เฟซบุ๊ก นั่นแปลว่าปริมาณการบริโภคพลังงานข้างบนนั่นอาจเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของมหกรรมสวาปามพลังงาน

อากาศรอบตัวเรา...มีแต่ข้อมูล

มันเป็นเรื่องไกลตัวเอาเรื่องที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเห็นความเกี่ยวข้องเรื่องพลังงานกับพฤติกรรมการใช้ เรามองไม่เห็นบรรดาข้อมูลที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ยากจะจับต้องได้ว่ามันมหาศาลแค่ไหนและสร้างต้นทุนพลังงานแก่โลกอย่างไร

ผลการศึกษาของ ไอดีซี (Internet Data Center) หรือองค์กรที่ให้บริการคุ้มครองเก็บรักษาข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์แก่ลูกค้า ในปี 2551 ระบุว่า ปริมาณข้อมูลดิจิตอลที่สร้างขึ้นในช่วงปี 2551 เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 16 ล้านกิกะไบต์

มันเยอะขนาดไหน ไอดีซีเปรียบเทียบออกมาให้เห็นภาพดังนี้-อุปกรณ์อ่านหนังสือออนไลน์แบบไร้สายที่โหลดข้อมูลจนเต็มกว่า 237,000 ล้านเครื่อง ธุรกรรมธนาคารออนไลน์กว่า 4.8 พันล้านรายการ ข้อมูลฟีดจากทวิตเตอร์กว่า 3 พันล้านล้านรายการ ภาพถ่ายดิจิตอล 162 ล้านล้านภาพ ไอพ็อด ทัชที่โหลดข้อมูลจนเต็มกว่า 30,000 ล้านเครื่อง และแผ่นดีวีดีบลูเรย์ที่บันทึกข้อมูลจนเต็มกว่า 19,000 ล้านแผ่น และยังคาดว่าข้อมูลดิจิตอลจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 18 เดือน และภายในปี 2555 จะมีข้อมูลดิจิตอลมากกว่าปี 2551 ถึง 5 เท่า

และจากงานศึกษาของ Lawrence Berkeley National Laboratory ของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อปี 2550 พบว่า ในปี 2549 บรรดาศูนย์ข้อมูลและเซิร์ฟเวอร์ต่างใช้พลังงานถึง 61 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เท่ากับ 1.5 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นต้นทุนที่บริษัทต่างๆ ต้องจ่ายไปถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขยะดิจิตอลที่ยังไม่ลงถัง

ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงปริมาณพลังงานที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ให้ทำงาน เฟซบุ๊กเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัว

“เราเรียกร้องให้เฟซบุ๊กมีนโยบายที่ชัดเจนว่า การขยายตัวของการใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มความสามารถของเซิร์ฟเวอร์ แหล่งพลังงานที่เพิ่มขึ้นควรจะดึงมาจากพลังงานสะอาด เพราะว่ามันมีศักยภาพที่เป็นไปได้ ซึ่งสามารถทำเป็นตัวอย่างให้ได้ อย่างในอเมริกามีเซิร์ฟเวอร์อยู่เยอะ และมีจุดที่สามารถเชื่อมกับพลังงานหมุนเวียนได้โดยตรง” ธารา บัวคำศรี ผู้แทนกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย กล่าว

ธาราบอกว่า กรีนพีซไม่ได้เรียกร้องให้เลิกใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก แต่ต้องการให้ผู้ใช้สร้างแรงกดดันให้มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ตระหนักถึงผลเสียของการใช้พลังงานจากถ่านหินที่สร้างแรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อม

อัศวิน ศรีวงศ์ แมเนจิ้ง ไดเร็กเตอร์ ของบริษัท Hitcha ที่ทำงานด้านเอนเตอร์ไพร์ซอฟแวร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์กล่าวถึงสถานการณ์ความตื่นตัวของวงการไอทีที่มีต่อขยะดิจิตอล บอกว่า

“ในวงการไอทีมีการตื่นตัวเรื่องขยะดิจิตอลมาพักหนึ่งแล้ว เพราะในมุมของผู้ให้บริการมันก่อให้เกิดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางตรง อย่างค่าเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องซื้อเพิ่ม หรือจะเป็นทางอ้อมอย่างค่าบำรุงรักษาข้อมูลและอุปกรณ์ ตัวอย่างเช่นเมื่อก่อนเรามีเว็บ geocitie.com ซึ่งเป็นพื้นที่ฟรีที่ให้บริการโดยยาฮู แต่สุดท้ายมันก็ต้องปิดตัวลงเพราะจำนวนข้อมูลที่มากมายเกินไป และส่วนมากจะเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์แล้ว”

ประเด็นพลังงานไฟฟ้าที่ต้องเสียทุกครั้งที่เข้าถึงข้อมูล อัศวินบอกว่าในแง่ของผู้ให้บริการเองจะต้องเสียค่าดาต้า ทรานเฟอร์ (ค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนข้อมูล) ให้กับเจ้าของเครือข่ายอีกทางหนึ่ง ซึ่งมันคือค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่มากกว่าค่าไฟและค่าดูแลรักษาข้อมูล ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงให้ความสำคัญต่อการจัดการข้อมูลที่เป็นขยะอยู่แล้ว

“เอาเข้าจริง พวกข้อมูลบนเน็ตเวิร์กมันจะมีช่วงเวลาของมันในระดับหนึ่ง เจ้าของพื้นที่ที่ให้บริการจะดูความแอ็กทีฟของข้อมูลเหล่านั้นว่ามีการใช้งานอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ เขาก็จำเป็นต้องกำจัดออกไป เพราะมันมีค่าใช้จ่ายในการดูแล แต่อย่างเฟซบุ๊ก เท่าที่รู้ ยังไม่มีการลบข้อมูลใครทิ้งนะ และแน่นอนว่าวันหนึ่งมันจะมีข้อมูลที่ไม่ได้ใช้บันทึกอยู่อย่างมหาศาล”

ส่วนในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ทั้งอัศวินและธาราพูดคล้ายกันว่า ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการต่างๆ ถูกคิดค้นให้มีการประหยัดพลังงานและจัดเรียงข้อมูลให้มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว จึงไม่สร้างผลกระทบต่อการใช้พลังงานมากนัก

เริ่มที่ตัวเรา

ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้คนในยุคปัจจุบันว่า ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นแต่เรื่องการสื่อสารข้อมูล แต่ยังมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวพันด้วย

“ตอนนี้อินเทอร์เน็ตมันเป็นช่องทางเพื่อระบายอารมณ์ มากกว่าการหาเหตุผล ซึ่งทางที่ดีคือมันช่วยลดความกดดันในสังคม”

แน่นอนว่า ทุกวันนี้การเขียนลักษณะนี้ถือว่ามีเยอะมากและขาดการกลั่นกรองจากระบบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากมีการกรองหรือการจำกัดจริงก็จะขัดต่อหลักเสรีภาพซึ่งมีอยู่ในโลกออนไลน์

แต่หากจะมองในส่วนของตัวผู้ใช้อย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะต้องไปดูในเชิงระบบ ข้อมูลหลายๆ อย่างก็ถูกฝังไว้ในโลกอินเทอร์เน็ตเช่นกัน ซึ่งบางอย่างก็ล้าสมัยและไม่เป็นจริงแล้วในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใครลบหรือขจัดลงไปเสียที

ปฐวี จอกสถิต เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไอทีอย่างเต็มที่ เพราะเขาเป็นทั้งช่างภาพและนักดนตรี ที่มีการอัปโหลดรูปภาพเข้าไปเก็บไว้บนไซเบอร์สเปซอย่างมหาศาลและอัปโหลดคลิปการเล่นดนตรีของตนไปไว้บนเว็บไซต์ยูทูบทุกวัน

“เรื่องการใช้พลังงานและพื้นที่จัดเก็บ ก็เคยนึกถึงเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ เทคโนโลยีการจัดเก็บพัฒนาขึ้น ทำให้ฟอร์แมตของการจัดเก็บมีขนาดเล็กลงไปมาก ไม่สิ้นเปลืองพื้นที่มากเหมือนก่อน และเชื่อว่าต่อไปมันก็จะเล็กกว่านี้แน่นอน แต่ถ้าอีกสิบปีหรือยี่สิบปีถัดไป ผมก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ผมส่งขึ้นไปในระบบนั้น จะอยู่ดีหรือไม่ ดังนั้น ทุกวันนี้ผมก็เก็บข้อมูลส่วนหนึ่งไว้ที่ตัวเอง ส่วนพวกภาพถ่าย ผมก็เลือกที่จะปรินท์ออกมาเป็นรูปเก็บไว้ เพราะมันดูมีคุณค่ามากกว่าที่เราเก็บมันไว้บนไซเบอร์สเปซ”

ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการลดภาระของเซิร์ฟเวอร์ เช่นเดียวกับ ชาคริยา ศรีเมือง กราฟิกดีไซเนอร์ ที่มักเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมากกว่าที่เซิร์ฟเวอร์บนเวบไซต์ต่างๆ เพราะไม่ค่อยนำข้อมูลอะไรอัปลงไปในโลกออนไลน์เท่าไหร่นัก และในเครื่องคอมพ์ก็จะเก็บไว้แต่ข้อมูลสำคัญๆ เท่านั้น

ส่วนวิธีการไรต์ลงแผ่นดีวีดีหรือซีดี เพื่อแบ่งเบาภาระเครื่องคอมพ์ ชาคริยาก็บอกว่าทำอยู่เป็นประจำและเมื่อไรต์ข้อมูลเก่าออกข้อมูลใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ จนบางครั้งก็เหนื่อยที่ต้องเอาออกไป แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องหาวิธีเอาข้อมูลออกจากเครื่องอยู่ดี

ไม่เพียงแต่คอมพิวเตอร์ส่วนตัวเท่านั้น หากในอีเมลที่เธอใช้หากมีข้อมูลที่มากเกินไปจะต้องเคลียร์เก็บไว้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

“ไม่ได้คิดถึงว่าจะสิ้นเปลืองพลังงานอะไร แต่หากมีข้อมูลในเครื่องเยอะก็จะเอาออกไปบ้าง เพราะคิดว่าทำให้เครื่องช้า”

ยาก...ที่จะให้มนุษย์ยุคดิจิตอลหยุดใช้อินเทอร์เน็ต เพราะมันก็ช่วยลดต้นทุนของโลกด้านอื่นๆ ได้มากอยู่ ซึ่งบรรดาภาคเอกชนก็พยายามปรับปรุงเทคโนโลยีประหยัดพลังงานในส่วนนี้อยู่อย่างขมีขมัน

และในฐานะผู้ใช้ก็ควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ให้มีเหตุผลขึ้นและไม่ใช้พื้นที่บนอากาศอย่างฟุ่มเฟือยเกินไป ใครมีอีเมลค้างอยู่ในเครื่องเป็นพันเป็นหมื่น ถ้าไม่จำเป็น ทางที่ดีก็ลบขยะดิจิตอลพวกนี้ออกบ้าง ไฟล์ ข้อมูล รูปภาพต่างๆ ที่ฝากไว้ที่นั่นที่นี่ก็ควรจัดการและจัดเก็บให้เป็นระบบไว้กับตัวจะดีกว่า

เพราะมันจะเป็นตลกร้ายเอาเรื่อง ถ้าเราใช้อินเทอร์เน็ตรณรงค์เพื่อโลก แต่คมอีกด้านของมันกลับสร้างต้นทุนให้โลกต้องแบกรับ

0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.