วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศูนย์เตือนภัยพิบัติ แห่งชาติ'ไร้ประสิทธิภาพ - เก็บไว้อ่าน

- พบต้นต่อวิกฤตน้ำท่วมทั่วประเทศเกิดจาก 'ศูนย์เตือนภัยพิบัติ แห่งชาติ'ไร้ประสิทธิภาพ
- มีการฉ้อฉลในการจัดซื้ออุปกรณ์เตือนภัย แถมนักการเมืองยึดอำนาจจัดคนตัวเองนั่งแทนมืออาชีพ
- ทั้งหมดเป็นต้นเหตุให้ไม่สามารถป้องกันได้ จนเศรษฐกิจชาติพัง
- เผยระบบป้องกันน้ำในกทม.ดีเยี่ยม ทั้งที่ทุกฝ่ายฟันธง 'กทม.จมบาดาล'แน่
- ขณะที่ปี 54 ประเทศไทยเตรียมรับปรากฎการณ์ 'นีโญ-นีญา' ที่ทำให้แล้งซ้ำซากและฝนหนักถึงขั้นวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง …..

ยังคงยืดเยื้อแบบไม่มีกำหนด สำหรับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมหลายภาคของประเทศครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหาย ผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 185 คน บ้านเรือน ห้างร้าน พื้นที่นา ไร่จมอยู่ในน้ำเป็นเวลาหลายสัปดาห์ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นราว 32,000 -54,000 ล้านบาท ล่าสุดสถานการณ์วันนี้ (10 พฤศจิกายน )กว่า 30 จังหวัดวิกฤตน้ำท่วมยังคงประสบอุทกภัยไม่คลี่คลาย

อีกทั้งหลายจังหวัดทางภาคใต้กำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมอีกหลายจังหวัด อันเนื่องมาจากฝนตกหนัก พายุพัดผ่านไม่มีทีท่าจะยุติลงเร็ววัน ขณะเดียวกันข้อมูลจากหน่วยงานวิชาการด้านภัยพิบัติหลายสำนักได้ออกมาเตือนอีกรอบว่า ภัยพิบัติน้ำท่วมยังคงกลับมาอีกครั้งในขณะนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า กลายเป็นประเด็นคำถามต่อภาครัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนก็จะดำเนินการเตรียมการ ป้องกัน รับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมที่ถือเกิดขึ้นซ้ำซากบ่อยครั้งๆในประเทศกันอย่างไร เพื่อลดระดับผลกระทบ ความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน

เนื่องจากภัยพิบัติธรรมชาติ น้ำท่วม ดินถล่ม เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์กันล่วงหน้า และประกาศเตือนประชาชนให้อพยพ ป้องกันตนเองและทรัพย์ก่อนเกิดภัยพิบัติธรรมชาติดังกล่าว เพื่อลดความสูญเสียจากวิบัติภัยเหล่านี้ได้ให้น้อยที่สุด 1 ใน หลายหน่วยงานใกล้ชิดและมีหน้าที่โดยตรงต่อภารกิจนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่า ได้แก่ “ ศูนย์ภัยพิบัติ แห่งชาติ”ที่เปรียบเสมือนเป็นเรดาห์เตือนภัยให้กับประชาชน เมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆไม่ว่า สึนามิ แผ่นดินไหว ดินถล่ม น้ำท่วม เพราะถือเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นมีภารกิจครอบคลุมเตือนภัยพิบัติธรรมชาติทุกประเภทๆให้กับประชาชน

“ประสิทธิภาพของศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งมา 6 ปี ด้วยงบประมาณนับพันล้านบาท มีความแม่นยำสูงมาก เพราะมีข้อมูลทุกภัยพิบัติธรรมชาติ วิเคราะห์จากทั่วประเทศและทั่วโลก แต่ข้อมูลที่ได้มา หากคนทำงานใช้ไม่เป็น เพราะไม่มีความรู้ ความสามารถก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะงานด้านภัยพิบัติธรรมชาติเรียนรู้ไม่มีวันหมดขนาดคนมีประสบการณ์คลุกคลีโดยตรงกว่า 50 ปียังรู้ไม่หมด นับประสาอะไรกับคนที่ไม่มีพื้นความรู้ ความเชี่ยวชาญโดยตรง” แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติบอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์”

นักการเมืองเอี่ยว ดึงพวกคุมงานเบื้องหลังการขาดประสิทธิภาพของศูนย์ภัยพิบัติครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก ปัญหาสำคัญด้านหนึ่ง คือ ด้านบุคลากรที่ขาดความรู้และความสามารถ กลายเป็นจุดอ่อนทำให้การทำงานมีอุปสรรคปัญหา ไม่สามารถใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย ข้อมูลได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าว มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งในการบริหารจัดการภัยพิบัติให้กับภาคประชาชน เพราะได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อเตือนภัยพิบัติต่างๆ ทั้งสึนามิ และน้ำท่วม เป็นต้น โดยจัดตั้งขึ้น หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมภัยพิบัติสึนามิที่คร่าชีวิตคนไทยและชาวต่างชาติกว่า 5,396 คน บ้านเรือน การเกษตร การประมง ปศุสัตว์ ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมเสียหายมูลค่านับประเมินไม่ได้ และมีการออกแบบ โครงสร้าง เครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย แม่นยำ และบุคลากรระดับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา จนทำให้เป็นศูนย์ภัยพิบัติฯที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียเหนือกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย

“ ไม่เพียงระดับบริหาร ส่วนอื่นๆระดับกองงานต่างๆที่นักการเมืองดึงพรรคพวกของตัวเองเข้ามานั่งทำงานในศูนย์ฯ เพราะเห็นโอกาสและผลประโยชน์ โดยเฉพาะรายได้จากเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงเดือนละ 8 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราการสูงกว่าอธิบดีกรมอีก โดยคนเหล่านี้กินเงินเดือนสูง แต่คุณสมบัติไม่เหมาะสมกับงาน เพราะพื้นฐานความรู้ไม่ผ่านเกณฑ์ปริญญาตรี มาเป็นหัวหน้ากองงาน หรือ บางคนทักษะภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรง”

ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ดึงเอาคนนอกขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญมาทำงาน จึงทำให้ขาดประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการระบบเตือนภัย โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมแต่ละภาคของประเทศครั้งล่าสุด แหล่งข่าวบอกว่า แม้กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยพิบัติหลายครั้ง แต่หากศูนย์ภัยพิบัติไม่รับลูกบอกเตือนประชาชนให้ทราบล่วงหน้าว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย หน่วยงานป้องกันสาธารณภัยก็ไม่สามารถเข้ามาดูแลและช่วยอพยพคนได้ ขณะที่หน่วยงานอื่นๆที่ต้องบริหารจัดการน้ำ อย่าง กรมชลประทานก็ปล่อยน้ำไม่ตรงเวลา ทั้งที่น้ำท่วมก็ยังปล่อยน้ำออกมาอีก มันจึงเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่หลายจังหวัด

“ ยกตัวอย่างเช่น โคราช และหลายจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลาง ภาคอีสาน และใต้ ซึ่งน้ำคงไม่ท่วมหนักขนาดนี้ หากศูนย์เตือนภัยพิบัติทำงานกับหน่วยงานอื่นอย่างมีบูรณาการ เพราะการจัดการภัยพิบัติเตือนภัยล่วงหน้าเหล่านี้ สามารถลดระดับการสูญเสียของภัยพิบัติได้ ที่สำคัญเครื่องมืออุปกรณ์ที่ติดตั้งช่วยเตือนภัยน้ำท่วม ปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงให้ข้อมูลเตือนภัย ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน แต่ก็ไม่มีการใช้งานหรือแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ก่อน จึงเกิดวิกฤตน้ำท่วมหนักอย่างที่เห็น ”

เขาให้คำแนะนำด้วยว่า สำหรับการสรรหาบุคลาการที่มีความรู้ ความสามารถประสบการณ์เหมาะสมสำหรับทำงานด้านนี้ ระดับบริหารควรใช้อดีตข้าราชการอธิบดีกรมอุตุนิยม กรมชลประทาน หรือ กรมทรัพยากรธรณี นักวิชาการด้านภัยพิบัติจากสถาบันการศึกษาต่างๆ หรือ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันต่างๆจากภาคเอกชนที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงาน เพราะภารกิจงานภัยพิบัติต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ มาศึกษา วิเคราะห์ติดตามอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภัยพิบัตินั้นเกิดขึ้นผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ต้องเตรียมตัวและพร้อมตลอด 24ชั่วโมง มันจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน”

อย่างไรก็ตาม ปมปัญหาการโอนย้ายบุคลากรภายนอก ซึ่งเป็นคนของนักการเมืองและพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเข้ามาทำงานในหน่วยงานสำคัญแห่งนี้ แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งเพราะฝ่ายการเมืองของพรรครัฐบาลมองว่า หน่วยงานนี้ก่อตั้งและดูแลโดยคนของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จึงไม่ค่อยไว้วางใจ มีการกดดันจนต้องลาออก และโยกย้ายไป จนกระทั่งปัจจุบันเหลือบุคลากรชุดเดิมอยู่เพียงไม่กี่คน จากจำนวนทีมงานทั้งหมดกว่า 200 คน

คอรัปชั่น - ล้มประมูล
อุปกรณ์เตือนภัย

นอกจากการเปลี่ยนตัวบุคลากรแล้ว ยังมีปัญหาทุจริตเชิงนโยบายของข้าราชการบางคนที่เกี่ยวข้องกับงานประมูลจัดซื้อจัดจ้างสมคบกันล้มประมูลหลายครั้ง ทำให้การจัดซื้ออุปกรณ์เตือนภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยสึนามิล่าช้า ทั้งที่ควรจะดำเนินการให้เสร็จตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เบื้องหลังเหตุล่าช้านั้น แหล่งข่าวคนเดิม บอกว่า เนื่องจากผู้ผลิตจำหน่ายอุปกรณ์เตือนภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างประเทศมีหลายรายๆเช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี ได้พาแข่งกันแย่งตัวข้าราชการและผู้ติดตามไปดูงานที่โรงงานผลิตในต่างประเทศหลายครั้ง และวิ่งเต้นเข้าหา จนทำให้การประมูลไม่สามารถตัดสินเลือกผู้ชนะได้ ขณะที่ด้าน งบประมาณ สำหรับการซ้อมเตือนสึนามิกัน กลับมีการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย บางกรณีใช้กันมากถึง 5-7 ล้าน เพื่อจัดอีเว้นต์คอนเสิร์ต แสดงนิทรรศการความรู้ภัยพิบัติ โดยมีจำนวนประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจกันไม่มากนักเท่าที่ควร

“ ยกตัวอย่าง โครงการจัดซื้อจัดจ้าง ติดตั้งทุ่นลอยน้ำลึก เพื่อเตือนภัยสึนามิ หรือ ถูกล้มประมูลกันมากหลายครั้ง โดยมีข้อพิรุธหลายอย่างว่า ไม่โปร่งใส่ เช่น การประกาศประชาพิจารณ์และประกวดราคาไม่ชอบย้อนหลัง 2 ครั้ง และทำประชาพิจารณ์ของผู้ร่วมประมูล เหลือเวลาเพียง 1 วัน จึงมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน”

ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้จัดสรรงบฯ รวม 112 ล้านบาท ซึ่งถูกตัดออกประมาณ 10% จากที่เสนอขอไป โดยส่วนใหญ่จะเน้นการปรับปรุงศูนย์เตื่อนภัยที่มีอยู่ กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2553 โดยทุ่นดังกล่าวจะช่วยให้ศูนย์เตือนภัยฯทราบผลก่อนที่คลื่นจะกระทบฝั่ง 15 นาที ส่วนทุ่นเดิมที่ได้จากประเทศสหรัฐอเมริกา จะใช้งบฯในการปรับปรุง 48 ล้านบาท ขณะที่ในการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิในแต่ละปีนั้น จะใช้งบฯ จำนวน 5 ล้านบาท ล่าสุดได้ทำการฝึกซ้อมเตือนภัยที่ 6 จังหวัดภาคใต้ และในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ เตรียมฝึกซ้อมเตือนภัยการเกิดเหตุพายุเกย์ ที่จังหวัดชุมพร ด้วย

บริหารจัดการภัยพิบัติ นายกฯต้องคุมเอง นอกจากปัญหาบุคลากรแล้ว อีกอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ในเชิงโครงสร้างสายบังคับบัญชา ซึ่งเดิมนั้นศูนย์ภัยพิบัติฯแห่งนี้จะต้องขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งก่อตั้งและเปิดดำเนินการศูนย์ฯตั้งแต่ปี 2548 กำหนดให้มีผู้บริหารสูงสุดของประเทศ หรือ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับรายงานโดยตรงและตัดสินใจสั่งการมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ศูนย์ภัยพิบัติ กรมอุตุนิยม กรมชลประทาน แต่ปัจจุบันได้แยกมาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีของกระทรวงไอที โดยตรง ทำให้การทำงานมีหลายลำดับชั้นและล่าช้า เมื่อเกิดภัยพิบัติแจ้งเตือนกว่าจะตัดสินใจดำเนินการต่อไปจึงไม่ทันการณ์

“ ในต่างประเทศ เรื่องภัยพิบัติ และหน่วยงานแบบศูนย์ภัยพิบัติ จะขึ้นตรงกับผู้นำประเทศ ประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลโดยตรง เมื่อมีข้อมูลเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม ฝนตกหนัก นายกรัฐมนตรีจะได้รับข้อมูลก่อน ทั้งแนวทาง มาตรการ หรือแผนดำเนินการ และตัดสินใจดำเนินการล่วงหน้า เพื่อลดความสูญเสียภัยพิบัติได้ถั่วถึง ไม่ใช่ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรี ข้าราชการประจำทำงานหลายๆขั้นตอน ทำให้ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติ” แหล่งข่าวบอก

**************

กทม.สั่งปรับผังเมืองใหม่
ป้องกันน้ำท่วม-ฝ่าฝืนลงโทษรุนแรง

ฝนที่ตกหนักในช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับ น้ำเหนือไหล่หลากสูงมากเป็นประวัติการณ์ จนเขื่อนต่างๆ ไม่สามารถรองรับได้ ทำให้กรมชลประทานต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ออกมา ที่สำคัญน้ำทะเลยังหนุนสูง ส่งผลให้พื้นที่เกือบทั่วประเทศต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งบางแห่งท่วมขังนานเป็นเดือน

ขณะที่บางแห่งสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร(กทม.) ซึ่งแม้ว่าจะประสบกับภาวะน้ำท่วมขังบ้าง แต่ก็สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะว่า การบริหารจัดน้ำได้ดี ตามแนวทางโครงการพระราชดำริ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน การแก้ปัญหาน้ำท่วมจะใช้แนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management) โดยใหัมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสมขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ ต่าง ๆ ด้านใน รวมถึงการปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขัง โดยใช้วิธีการให้ขุดลอกลำน้ำตื้นเขินให้น้ำไหลสะดวกขึ้น ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งให้เรียบไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อทางเดินของน้ำ กำจัดวัชพืช และรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลให้ออกไปจนหมดสิ้น ขุดคลองใหม่ในกรณีลำน้ำคดโค้งมาก

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญมากในการกักเก็บน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก โดยปัจจุบันมีการป้องกันน้ำท่วมใหญ่นั้น ขณะนี้มีการดำเนินการหลายจุด อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน จ.นครนายก ซึ่งนอกจากจะช่วยไม่ให้น้ำท่วมในพื้นที่แล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าสู่กรุงเทพฯด้วย

จัดระบบบริหารจัดการน้ำ

สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จัดให้มีระบบการบริหารจัดการน้ำ โดยจัดทำโครงการ “แก้มลิง” ชักน้ำให้รวมกันแล้วเก็บไว้ในจุดพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง นั่นหมายถึงว่าจะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล ซึ่งทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ และเมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลองก็ทำการระบายน้ำจากคลอง ออกทางประตูระบายน้ำ รวมทั้งให้สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิงให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดลง และเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ก็ทำการปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันมิให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว

สำหรับแนวทางป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ฯนั้น พรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.อยู่ระหว่างจัดวางผังเมืองใหม่ โดยผังเมืองใหม่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะมีแหล่งรับน้ำ จะมีควบคุมการเจริญเติบโตของเมือง ที่สำคัญผังเมืองใหม่จะช่วยเรื่องลดภาวะโลกร้อน ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง และจะไม่อนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้างแล้วปิดกั้นทางน้ำไหล หากใครฝ่าฝืนและปลูกสร้างขวางเส้นทางน้ำไหลจะมีบทลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะประกาศและมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า

ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะนำการแก้ปัญหาน้ำท่วมของประเทศฮอลแลนด์มาใช้ในกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดการกับปัญหาระดับน้ำทะเลในฮอลแลนด์เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะฮอลแลนด์เป็นประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่น้ำไม่ท่วมจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งในฮอลแลนด์ได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขึ้นมากั้นน้ำ

โดยรองผู้ว่าฯมีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนยักษ์แนวปากน้ำ ตั้งแต่บางขุนเทียน ปากน้ำ ไปจรดสมุทรปราการ มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท โดยรัฐจะเป็นผู้ลงทุน

ด้านม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้วางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ 2 มาตรการ คือ การป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ ซึ่งการป้องกันน้ำท่วมจะเป็นการก่อสร้างระบบพื้นที่ปิดล้อม โดยก่อสร้างคันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำหลากจากด้านเหนือ และด้านตะวันออกไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ

ส่วนการระบายน้ำเป็นการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กริมคลอง ขุดลอกคลองระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ก่อสร้างทางรับน้ำ และก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณตลิ่ง และจัดหาบ่อรองรับและเก็บกักน้ำฝนชั่งคราว เพื่อการระบายน้ำท่วมขังจากพื้นที่ปิดล้อม

การดำเนินการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ ฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี โดยพื้นที่ฝั่งพระนคร มีพื้นที่ปิดล้อมประมาณ 600 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปจรดแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก

ขณะเดียวกัน ยังได้ประสานกับทางกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด เพื่อปล่อยน้ำจากเขื่อนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดโอกาสในการเกิดน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะช่วยป้องกันเพราะน้ำที่ไหลลงมามีปริมาณมาก
ตั้งเป้ากักน้ำ 13 ล้านลบ.ม.

ขณะที่สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม (แก้มลิง) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้เก็บกักน้ำฝนชั่งคราวก่อนระบายลง ระบบระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งในชั้นแรกจะทำการจัดหาพื้นที่ฝั่งพระนคร โดยมีเป้าหมายในการจัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำปริมาตร 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันสำนักการะบายน้ำได้จัดหาพื้นที่แก้มลิงได้จำนวน 20 แห่ง และมีความสามารถในการเก็บกักน้ำได้ 10,062,525 ลบ.ม.

ส่วนในพื้นที่ทางด้านฝั่งธนบุรีจะมีคลองเป็นจำนวนมาก โดยคลองส่วนใหญ่ เห็นคลองตามแนวตะวันออกตะวันตก ซึ่งระบายน้ำออกทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในช่วงฤดูน้ำหลากจากทางเหนือน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับสูงขึ้นจึงควรใช้คลองหลักที่มีอยู่นั้นเป็นแก้มลิง โดยทำการสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการเก็บกักและระบายน้ำออกสู่ทะเล การป้องกันและการบรรเทาอุทกภัย โดยแบ่งพื้นที่ระบายน้ำออกดังนี้

1. ใช้คลองพระองค์ไชยานุชิตเป็นคลองระบายน้ำหลักรับน้ำจาก คลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศน์บุรีรมย์ และคลองสำโรง

2. ก่อสร้างคันกั้นน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิตทั้งสองฝั่งและขยายขนาดคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลพื้นที่ที่ต้องการเร่งสูบระบายน้ำออก

3. ก่อสร้างคันกั้นน้ำคลองลำปลาทิว และคลองจระเข้ใหญ่ฝั่งซ้าย เพื่อเป็นการแบ่งพื้นที่ระบายน้ำไม่ให้ไหลบ่าลงสู่คลองลำปลาทิวและคลองจระเข้ใหญ่ในขณะที่คลองรับน้ำได้สูงสุดแล้วจะทำให้ไหลข้ามคลองไปท่วมพื้นที่อีกด้านหนึ่ง

4. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่จุดตัด คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศน์บุรีรมย์ คลองสำโรง กับคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อเร่งสูบน้ำลงคลองพระองค์ไชยานุชิต

5. ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในคลองที่ตัดผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิต คลองด่าน คลองลำปลาทิว และคลองจระเข้ใหญ่

************

ฟันธงไทยจะไม่สงบสุขเหมือนอดีต
โลกแปรปรวนหนัก ภัยพิบัติจ่อถล่มไทยถี่ขึ้น

นักวิชาการเผย สภาวะแวดล้อมโลกเข้าสู่วิกฤต รอบการเกิด “เอลนีโญ-ลานีญา” กระชั้นชิด ประเทศไทยจะไม่มีทางสงบสุขเหมือนเก่า ภัยธรรมชาติจะเข้ามาถล่มถี่ขึ้น แนะรัฐบูรณาการทุกหน่วยงาน ซื้อที่ดินเกษตรกรทำแก้มลิง เช่าที่นารับน้ำหลาก ระบุ 5 ปีข้างหน้าไทยจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ เกิดภัยแล้งทั่วประเทศ ซ้ำด้วยภัยพายุรุนแรง จากนั้น 5 ปีหลังจะเข้าสู่ภาวะลานีญา เกิดอุทกภัยหนักกว่าปี 53 ขณะที่แหล่งข่าววงในชี้ชัด ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเดี้ยง ผู้เชี่ยวชาญถูกบีบออก กลายเป็นแหล่งหาประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม

ระบุ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’
ถล่มไทยหัวปีท้ายปี

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พิบัติภัยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เกี่ยวกับน้ำ จะมีภัยแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ไฟป่า 2.พิบัติภัยที่เกี่ยวข้องทางทะเล เช่น พายุไต้ฝุ่น การกัดเซาะชายฝั่ง สึนามิ และ 3.ตัวที่เกิดภายในโลกมีแผ่นดินไหวเป็นหลัก โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้ประเทศไทยจะพบแต่พิบัติภัยเรื่องน้ำมากที่สุดซึ่งรวมไปถึงภัยแล้ง น้ำท่วม แต่ที่ผ่านมาไทยก็ปรับตัวเขากับสถานการณ์ได้ดี แต่ในช่วงหลังๆ กลุ่มพายุเริ่มเข้ามามากขึ้น เช่น พายุโซนร้อนแฮเรียดเข้าที่ตะลุมพุก ปี 2505 มีคนตายเกือบ 1 หมื่นคน ปี 31 ไต้ฝุ่นเกย์ ปี 41 ไต้ฝุ่นลินดา มีบ้างประปราย แต่ก็ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทย

ส่วนเรื่องสภาวะฝนของไทยว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้ง จะเกี่ยวพันกับลมมรสุม 2 ตัว คือ 1.มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กับ 2.มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งลมมรสุมนี้จะไปเกี่ยวพันกับกลไกของโลกที่มีการปรับตัวในแต่ละปี เกิดเป็น เอลนีโญ หรือเป็นปีที่ที่น้ำน้อยเกิดภัยแล้ง หรือเกิดเป็น ลานีญา ซึ่งเป็นปีที่น้ำเยอะก่อให้เกิดน้ำท่วม โดยทั้ง 2 ตัวนี้จะเป็นตัวควบคุมว่าปีไหนจะน้ำมากน้ำน้อยทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม วงรอบของการเกิด เอลนีโญ กับลานีญา จะมีวงรอบของการเกิด โดย เอลนีโญ จะเกิดขึ้นทุกๆ 3 ปีต่อ 1 ครั้ง ส่วน ลานีญา จะเกิดทุก 4.6 ปีต่อ 1 ครั้ง นอกจากนั้นเป็นปีที่ฤดูกาลปรกติ แต่ทั้งนี้น่าสังเกตว่าในช่วง 8 ปีตั้งแต่ ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน พบว่ารูปแบบวงรอบเริ่มเปลี่ยนไป เอลนีโญ เกิดถี่ขึ้น จากเดิม 3 ปีต่อ 1 ครั้ง มาเป็น 1.6 ปีต่อ 1 ครั้ง ส่วน ลานีญา ก็เกิดเร็วขึ้น จากทุกๆ 4.6 มาเป็น 2.6 ปีต่อ 1 ครั้ง ส่วนในปีนี้เกิด เอลนีโญหัวปี เกิด ลานีญา ท้ายปีเลย และมีแนวโน้มที่จะขยับระยะเวลาสั้นขึ้นเรื่อยๆ

คาดปี 52 ภัยแล้งมาเยือน

ทั้งนี้ ในปี 2552 เกิดภาวะ เอลนีโญ ทำให้อากาศร้อนที่สุด เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. เริ่มเข้าต้นของช่วง เอลนีโญ และขึ้นไปรุนแรงที่สุดในเดือน มิ.ย. ไล่มาถึงเดือน ก.ค. ปีนี้ ทำให้เกิดภาวะแล้งมากที่สุด แม่น้ำโขงแห้ง ล้งลงเป็นประวัติการณ์ จากนั้นก็เกิดภาวะลานีญาเลย จากปรกติต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบจากลานีญารุนแรงมากด้วย ทำให้ในปีนี้ไทยโดนทั้งภัยแล้งในช่วงต้นปี และช่วงปลายปีก็ถูกกระหน่ำด้วยอุทกภัยสุดรุนแรงทั้ง 2 ด้านภายในปีเดียว ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการสนใจมาก เพราะที่ผ่านมาในรอบ 60 ปีไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้เลย จึงเกิดคำถามที่ต้องขบคิดว่าทำไมน้ำจึงท่วมมากได้

โดยภาวะน้ำท่วมในอดีต ส่วนใหญ่แล้วปีไหนน้ำท่วมภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือ ภาคใต้น้ำจะไม่ท่วม แต่ปีนี้ไม่ถึงเดือนท่วมตั้งแต่ภาคกลาง ไล่มาอีสาน ไปภาคใต้ถึงมาเลเซีย ซึ่งทางวิชาการเรียกว่าสภาวะอากาศแปรปรวนแบบผกผัน และที่ผ่านมาเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2526, 2538, 2549, 2553 ก็เกิดจากต้นปีเป็นเอลนีโญ และปลายปีเป็นลานีญาเหมือนกันแบบเดียวกันทั้งหมด สรุปได้ว่าในปีนี้เดือน ม.ค.-ก.ค. ฝนทิ้งช่วงยาวเข้าหน้าฝนแล้วฝนกลับไม่ตกลงมา เขื่อนก็เลยไม่มีน้ำ ทำให้ช่วงปลายปีฝนมามาก เขื่อนต่างๆ จึงรีบเร่งกักเก็บน้ำฝนและเพิ่งมาเต็มเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ตามปรกติฝนต้องมาเดือน พ.ค. ทำให้เขื่อนต้องระบายน้ำออกมามาก ไม่สามารถเก็บกักน้ำบรรเทาอุทกภัยได้ รวมทั้งยังมีพายุไต้ฝุ่นเติมเข้ามาด้วย เหมือนกับปี 2526 เกิดไต้ฝุ่นคิมเข้ามา ปี 2538 มีไต้ฝุ่นเติมน้ำเข้ามาถึง 3 ลูก

โลกร้อนเกิดซูเปอร์พายุทะเลจีนใต้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตถ้าพ้นกลางเดือน ธ.ค.ไปแล้วไม่เกิดพายุลูกใหม่ ก็จะถือว่าพ้นภัยพิบัติน้ำท่วมไปได้ จากนั้นคาดว่า ภาวะลานีญา จะลดลงต่ำสุดในเดือนหน้า แล้วจะผงกหัวขึ้นพ้นช่วงลานีญาในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค.54 จากนั้นในภาวะปรกติ โอกาสที่จะเปลี่ยนเทรนด์หลังเดือน มี.ค. จะเป็นปีที่เกิด เอลนีโญ ขาดน้ำเกิดภัยแล้งได้ 25% แต่ 50% จะเป็นปีปรกติ แต่เผอิญช่วงนี้มีภูเขาไฟระเบิดที่อินโดนีเซียยาวนานมาเป็นเดือน จะทำให้ปรากฏการณ์ลานีญา ที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้รุนแรงมากขึ้น เถ้าถ่านภูเขาไฟจะทำให้ฝนตกหนัก เพราะนิวเคลียสเถ้าถ่าน ก่อให้เกิดฝนตกและมีก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว จะทำให้เอเชียใต้ร้อนมากขึ้น จึงทำให้สัดส่วนที่คาดว่าจะเกิดเอลนีโญ 25% เพิ่มเป็น 50% และอาจจะเป็นปีที่อากาศปรกติอีก 50% จึงคาดว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีหน้าคงจะไม่เกิดเหตุการณ์ ลานีญาที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ส่วน 6 เดือนหลังจะต้องรอดูสถิติอีกครั้งหนึ่ง เพราะแบบจำลองที่มีอยู่พยากรณ์ได้เพียง 6 เดือน

นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนไม่เพียงรอบการเกิดเอลนีโญ และลานีญา จะเกิดถี่มากขึ้น พายุในทะเลจีนใต้ก็มีกำลังแรงมากขึ้น ซึ่งเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีทะเลจีนใต้จะเกิดพายุประมาณ 20-30 ลูก ต่ำสุด 21 ลูก สูงสุด 36 ลูก แต่ 10 ปีหลังมีกำลังแรงมากขึ้นจนเป็นซูเปอร์พายุ จากอดีตนานๆ ครั้งจะเกิดขึ้นซัก 1-2 ลูก แต่ช่วงหลังนี้เกิดปีละ 4-5 ลูก เห็นได้จากปีก่อน ฟิลิปปินส์ถูกซูเปอร์พายุถล่ม 6-7 ลูก

ดังนั้น จากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการทำได้ลำบากมากขึ้น เห็นได้จากปีนี้เกิดเอลนีโญ และลานีญาหัวปีท้ายปี จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตประเทศไทยจะไม่สามารถอยู่อย่างปรกติสุขเหมือนในอดีตอีกต่อไป ภัยพิบัติต่างๆ จะมีความรุนแรง และบ่อยครั้งมากขึ้น ห่วงโซ่อาหารทั้งบนดินและในทะเลจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งจะเกิดแผ่นดินถล่มถี่ขึ้น นับตั้งแต่ปี 2531 ดินถล่มทุกปี เพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่าตัว โลกยิ่งร้อนขึ้น ปัญหาน้ำท่วมยิ่งจะมีความรุนแรงกระทบต่อพืชพันธุ์ธัญญาหารทุกประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถใช้ข้อมูลในอดีตมาบริหารจัดการทรัพยากรในปัจจุบันได้ เพราะสถิติในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าในอดีตมาก

เตือนรัฐเตรียมรับมือ
น้ำท่วมใหญ่ในปี 59-63

ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต มีความเห็นว่า ในปีหน้าสภาวะอากาศของไทยจะเข้าสู่ภาวะลานีญาแบบอ่อนๆ เบากว่าปีนี้ มีน้ำท่าดี เพราะโดยปรกติแล้วหลังจากเกิดลานีญาในช่วงปลายปีแล้ว จะกลับไปเป็นเอลนีโญทันทีได้ยาก เพราะยังมีความชื้นที่เกิดจากลานีญาอยู่สูง จะมีเวลาพัก 1-2 ปีก่อนจะเกิดเหตุเอลนีโญขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น ในการพยากรณ์เบื้องต้นในช่วง 5 ปีแรกต่อจากนี้ ประเทศไทยจะค่อยๆ เข้าสู่ภาวะเอลนีโญ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ แต่ก็จะมีพายุในภูมิภาคนี้รุนแรงขึ้นมากกว่าช่วงลานีญา และอาจจะมีบางส่วนส่งผลกระทบกับประเทศไทย แต่จะเกิดน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ผ่าน ไม่ท่วมเป็นบริเวณกว้างแบบในปีนี้ และหลังจากนั้น 5 ปีหลัง ตั้งแต่ปี 2559-2563 จะเข้าสู่ลานีญาอย่างรุนแรง และจะเกิดภาวะน้ำท่วมมากกว่าในปี 2553

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมก่อสร้างพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ การซื้อที่ดินคืนจากประชาชนเพื่อเก็บน้ำ รวมทั้งการเช่าที่ดินเกษตรกรบางส่วนประมาณ 6 เดือนเพื่อรองรับน้ำ

ศูนย์เตือนภัยฯ
เดี้ยงรุมกินเละ

ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่การบริหารจัดการน้ำในปีนี้ล้มเหลว ก็เนื่องจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล เพราะผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยอมรับกับระบบในหน่วยงานนี้ไม่ได้ ถูกบีบออกไปเป็นจำนวนมาก ทำให้บุคลากรในศูนย์นี้ที่ส่วนใหญ่จะเป็นทหารเรือ และกลุ่มทหารก็มีการทะเลาะเบาะแว้งกันจนลาออกแล้วหลายชุด ทำให้ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เครื่องมือราคาแพง ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ ทำให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของหลายฝ่าย

ล่าสุดทุ่นที่ใช้ตรวจวัดสึนามิก็เสีย กำลังของบสูงกว่า 20 ล้านซ่อมแซม ทำให้ปัจจุบันไทยไม่มีอุปกรณ์เตือนภัยสึนามิเลย ซึ่งสาเหตุที่เสียเพราะอุปกรณ์ตัวนี้ละเอียดอ่อนมาก ถูกเรือประมงเฉี่ยวชนก็เสียหายได้ง่าย และทั่วโลกก็ไม่ใช้กันแล้ว ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงควรเข้ามาดูแลศูนย์ฯ แห่งนี้อย่างจริงจัง อย่าเพียงแต่ฟังรายงานจากบุคคลอื่น และเร่งสางปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

Blog Archive
ขับเคลื่อนโดย Blogger.