วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"นัยน์ตาแห่งพายุ" ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี 17 ต.ค. 53




แผนที่ของหอสังเกตุการณ์ฮ่องกง (Hong Kong Observatory) จำลองขึ้นจากภาพถ่ายดาวเทียม MTSAT-2 เวลาประมาณ 16 น. วันอาทิตย์ (17 ต.ค.) ในฮ่องกง หรือ 18 น. ในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี (Megi) ทวีความเร็วเต็มเหยียดจนปรากฎให้เห็น "นัยน์ตาแห่งพายุ" เบื้องล่างลงไป "รูเข็ม" ที่มองเห็นในแผนที่นี้ คือศูนย์กลางของซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่มีความกว้างหลายสิบกิโลเมตร บางคนเรียกมันว่า "นัยน์ตาที่น่าชิงชัง" เนื่องจากมันเป็นตัวแทนของความหายนะ

ASTVผู้จัดการออนไลน์-- ภาพจากดาวเทียมที่หอสังเกตการณ์ฮ่องกง (Hong Kong Observatory) กับ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency) เผยแพร่ในตอนค่ำวันอาทิตย์ (17 ต.ค.) นี้ ได้เผยให้เห็น "นัยน์ตาแห่งพายุ" เป็นครั้งแรก ในขณะที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี (Megi) เคลื่อนเข้าไกล้เกาะฟิลิปปินส์ทุกขณะ

ภาพแผนที่ซึ่งจำลองจากภาพถ่ายของดาวเทียม MTSAT2 ได้ฉายให้เห็นรูเล็กๆ ตรงจุดศูนย์กลาง ขณะที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นกำลังหมุนคว้างปั่นความเร็วไม่หยุด “รูเข็ม” หรือ "นัยน์ตา" นี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและค่อยๆ หายไปเมื่อไต้ฝุ่นลดระดับความเร็วลง

"นัยน์ตาแห่งพายุ" หรือ Eye of the Storm จึงเป็นเครื่องบ่งชี้อำนาจการทำลายได้เป็นอย่างดี สิ่งนี้สามารถมองเห็นได้ทั้งจากดาวเทียมและจากพื้นดิน

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ผู้ที่มีโอกาสได้เห็นนัยน์ตาแห่งพายุจากเบื้องล่าง จากจุดที่เป็นใจกลางของมันจะไม่มีโอกาสรอดชีวิต ไปบอกเล่าเกี่ยวกับความน่าสะพรึงกลัวให้ผู้อื่นฟัง

สิ่งที่มองเห็นเป็น “รูเข็ม” จากห้วงอวกาศนี้ อาจจะมีความกว้างเป็นกิโลเมตร และ สูงหลายกิโลเมตรจากพื้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพายุ และ รูปแบบการหมุน

ภายในนั้นมีสภาพราวกับสุญญากาศ แต่จะไม่มีอะไรลอยอยู่ข้างในได้ ในขณะที่สรรพสิ่งที่อยู่รายรอบจะถูกดูดขึ้นไปหรือถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ตามแรงกดกับแรงกระแทก

ความเสียหายยังขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนตัวของพายุที่กำลังหมุนด้วยความเร็วสูงอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ในเวียดนามอธิบายเมื่อปีที่แล้วว่า พายุเกดสะหนา (Ketsana) ที่พัดเข้าฝั่งในวันที่ 29 ก.ย.2553 เป็นเพียงไต้ฝุ่นระดับ 2 เทียบไม่ได้กับเมกิ และ ยังอ่อนตัวลงเป็นระดับ 1 (C1) ขณะพัดผ่านจังหวัดในเขตที่ราบสูงภาคกลาง แต่เกดสะหนาสร้างความเสียหายรุนแรงเนื่องจากเคลื่อนที่ช้าเพียง 15 กม./ชม.

นั่นก็คือ ยิ่งเคลื่อนที่ช้า เวลาในการทำลายล้างสรรพสิ่งที่อยู่เบื้องล่างก็ยาวนานยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายได้มากขึ้น

ตามรายงานของสำนักพยากรณ์อากาศแห่งฟิลิปปินส์บ่ายวันอาทิตย์นี้ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี ยังคงอยู่ห่างจากเกาะลูซอนไปทางตะวันออกราว 450 กม. ความเร็วลม 230 กม./ชม. กับความเร็วใกล้สูญกลาง 195 กม./ชม. และ กำลังปั่นความเร็วขึ้นเรื่อยๆ ขณะเคลื่อนเข้าฝั่ง 24 กม./ชม.

ช่วงสุดสัปดาห์นี้ทางการฟิลิปปินส์อพยพราษฎรออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้วหลายพันคน และ อาจจะต้องบังคับให้ราษฎรอีกจำนวนหนึ่งอพยพหากยังไม่สมัครใจ


ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย แผนที่เผยแพร่โดยสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นหรือ JMA ซึ่งทำจำลองขึ้นจากภาพอินฟราเรดดาวเทียม MTSAT ถ่ายเมื่อเวลา 13.30 น.วันอาทิตย์ หรือ 16.30 น.ในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็น "นัยน์ตาแห่งพายุ" อย่างชัดเจน ขณะที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเร่งสปีดตัวเองขึ้นเรื่อยๆ เกาะลูซอนของฟิลิปปินส์เป้าหมายแรก คงจะห่างออกไปไม่เท่าไร



ภาพสีที่เผยแพร่โดยสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นหรือ JMA ซึ่งทำจำลองขึ้นจากภาพอินฟราเรดดาวเทียม MTSAT ในคราวเดียวกันกับภาพที่แล้ว แสดงให้เห็น "รูเข็ม" ศูนย์กลางของซูเปอร์ไต้ฝุ่นโดดเด่นอยู่ในทะเล ไม่ไกลจากฝั่งเกาะลูซอน ฟิลิปปินส์ ซึ่ง "เมกี" จะไปถึงในเช้าวันจันทร์ (18 ต.ค.) นี้.
ที่จะเคลื่อนย้ายจากพื้นที่อันตรายต่างๆ ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งซูเปอร์ไต้ฝุ่นกำลังจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินเลื่อน ดินถล่ม

แต่ละปีฟิลิปปินส์เผชิญกับไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนกว่า 20 ลูก บางลูกเป็นความหายนะ

ในช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต้น ต.ค.ปีที่แล้ว ไต้ฝุ่นเกดสะหนา กับไต้ฝุ่นป้าหม่า (Parma) ที่พัดเข้ากรุงมะนิลาติดๆ กัน ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในยุคใหม่ และ ยังทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของจีนในกรุงปักกิ่งออกเตือนในวันอาทิตย์ ระบุว่าเมกีกำลังจะเป็นพายุรุนแรงที่สุดที่พัดเข้าจีนในปีนี้ ทางการได้สั่งให้เรือหาปลาเข้าฝั่งทั้งหมด โดยคาดว่าเมกีซึ่งจะอ่อนกำลังลงเป็นไต้ฝุ่นระดับ 3 เมื่อเข้าถึงย่านกลางทะเลจีนใต้ในวันพุธ (20 ต.ค.) กำลังจะทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 6 เมตร และฝนตกหนัก

สำหรับศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย ยังไม่ปักใจเชื่อว่า เมกีจะเบนหัวขึ้นฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แต่ยังคงพุ่งตรงเข้าสู่ภาคกลางเวียดนาม

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่หน่วยงานของเวียดนาม เชื่อเช่นเดียวกับสำนักพยากรณ์อื่นๆ ทั่วโลกก็คือ เมกีมีโอกาสจะทวีความแรงขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 4 อีกครั้งกลางสัปดาห์นี้ พร้อมกับแสดงอำนาจการทำลายล้าง ผ่านนัยน์ตาหรี่เล็กอันน่าชิงชังของมัน ที่มองเห็นจากห้วงหาว.


จีนประกาศรับมือไต้ฝุ่นลูกที่รุนแรงที่สุดในปีนี้สำหรับจีน แต่เวียดนามยังไม่เชื่อเช่นนั้น แผนที่พยากรณ์อากาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางกรุงฮานอย ยังไม่เปลี่ยน ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยังคงมุ่งหน้าเข้าถล่มจังหวัดภาคกลาง สัปดาห์นี้จะได้เห็นกันว่า เมกีจะเลือกเดินไปทางใด

0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความที่ได้รับความนิยม

Blog Archive
ขับเคลื่อนโดย Blogger.